ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระอุโบสถวัดทองนพคุณ

คำสำคัญ : พระอุโบสถ, วัดทองนพคุณ, วัดทองล่าง

ชื่อหลักวัดทองนพคุณ
ชื่ออื่นวัดทองล่าง
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลคลองสาน
อำเภอเขตคลองสาน
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.732831
Long : 100.508103
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 663045.91
N : 1518632.65
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

วัดทองนพคุณหรือวัดทองล่างสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ได้เป็นผู้บูรณะซ่อมแซม และถวายให้เป็นพระอารามหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระครูกสิณสังวร (มี) เป็นเจ้าอาวาสและเป็นช่างพระที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระอุโบสถเป็นอาคารทรงไทยประเพณี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อนชั้นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง สันนิษฐานว่าเป็นงานในรุ่นหลังรัชกาลที่ 3 เนื่องจากมีการประดับตกแต่งที่ใช้รูปสัญลักษณ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 หน้าบันพระอุโบสถซ้อน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นรูปพานประดิษฐานพระไตรปิฎก ขนาบด้วยเชิงเทียน ชั้นล่างเป็นช่องประดับปริมากรรมรูปเทพนม โดยน่าจะมีความสอดคล้องกับภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถที่เขียนภาพคัมภีร์พระไตรปิฎก ช่องประตูทางเข้าพระอุโบสถมี 3 ช่อง ซุ้มประตูช่องกลางเป็นรูปมงกุฎ อีก 2 ช่อง เป็นซุ้มยอดทรงปราสาท ซุ้มหน้าต่างช่องกลางเป็นรูปมงกุฎ อีก2ซุ้มที่ขนาบข้างเป็นรูปพัดยศ

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

แต่เดิมพระอุโบสถวัดทองนพคุณมีรูปแบบเป็นอาคารอย่างจีน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระครูกสิณสังวร(มี) เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นศิษย์เอกของขรัวอินโข่งได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นอาคารแบบไทยประเพณี มีลักษณะเด่นที่น่าสนใจคือ ประตูด้านหน้าช่องกลางทำเป็นซุ้มรูปมงกุฎ และช่องหน้าต่างบานกลางก็ทำเป็นรูปมงกุฎเช่นกัน นอกจากนี้ที่ช่องหน้าต่างอีก 2 ช่องที่ขนาบข้างยังทำเป็นรูปพัดยศ โดยออกแบบให้กรอบหน้าต่างมีส่วนยอด กรอบ และด้ามของพัดยศอย่างชัดเจน การออกแบบรูปมงกุฎและพัดยศนี้สันนิษฐานว่าอาจเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงอุปถัมภ์วัด เนื่องจากได้ทรงครองสมณเพศก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติจึงได้นำสัญลักษณ์รูปมงกุฎอันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์มาประกอบเป็นซุ้มประตูและหน้าต่าง ร่วมกับรูปพัดยศซึ่งเป็นเครื่องแสดงสมณศักดิ์ของสงฆ์

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

สุริยา รัตนกุล.พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร เล่ม 2. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550-2552.