ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องชมพูบดี
จิตรกรรมมีสภาพค่อนข้างลบเลือน ผนังด้านตรงข้ามพระประธานเขียนตอนพระอินทร์จำแลงกายมาเป็นทูตเชิญเสด็จพระเจ้าชมพูบดีไปยังเวฬุวัน ผนังด้านทิศเหนือเขียนตอนกระบวนเสด็จของพระเจ้าชมพูบดี ผนังด้านหลังพระประธานเขียนตอนพระเจ้าชมพูบดีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผนังด้านทิศใต้เขียนตอนกระบวนเสด็จของกาญจนราชเทวีพระมเหสี จิตรกรรมฝาผนังมีรูปแบบและเทคนิคอย่างจิตรกรรมไทยประเพณีในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยตัวละครแสดงกิริยาอย่างนาฏลักษณ์ พื้นหลังฉากปราสาทใช้สีแดงชาด คั่นฉากเหตุการณ์สำคัญด้วยกำแพงเมือง แนวพุ่มไม้ หรือโขดหิน ภาพปราสาทราชวังยังคงเป็นแบบไทยประเพณี ในขณะที่ภาพอาคารบ้านเรือนมีการจำลองภาพอาคารตามสมัยนิยม
จิตรกรรมลายรดน้ำเครื่องราชูปโภค
จิตรกรรมลายรดน้ำที่บานแผละประตูและหน้าต่างภายในพระอุโบสถวัดนางนองมีทั้งหมด 28 ภาพ เขียนภาพเครื่องราชูปโภค เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องยศ เครื่องสิริมงคล เครื่องศัตราวุธ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆ โดยมีภาพเครื่องสูง ได้แก่ ฉัตร บังสูรย์ บังแทรก ประกอบอยู่เบื้องหลัง ลวดลายทั้งหมดปิดทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำ
จิตรกรรมจิตรกรรมลายกำมะลอ
ภาพจิตรกรรมลวดลายอย่างจีน เขียนด้วยสีฝุ่นผสมทองคำเปลว บนพื้นรักสีดำเป็นรูปเทพเจ้าฮก ลก ซิ่ว ตามคติความเชื่อในลัทธิหรือศาสนาเต๋า แต่งกายอย่างจีน พร้อมด้วยบริวาร
สถาปัตยกรรมจิตรกรรมเรื่องพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มหายาน
องค์ประกอบของภาพจิตรกรรมเรื่องนี้เขียนบนฉากหลังสีน้ำเงินเข้มมีกรอบคดโค้งยอดแหลม ภายในพื้นที่นั้นประกอบด้วย ภาพพระพุทธรูป 5 พระองค์ ประทับนั่งเรียงเป็นแถว พระพุทธรูปแต่ละองค์ครองจีวรสีเข้มเกือบเป็นสีแดง ห่มจีวรเฉียง ผ้าจีวรเรียบไม่มีริ้ว มีสังฆาฏิเป็นแถบขนาดเล็กพาดจากพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระพักตร์และพระวรกายปิดทอง เหนือพระเศียรมีพระรัศมีเปลวปิดทองโดยไม่มีอุษณีษะ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 พระพุทธรูปทุกองค์แสดงปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวซึ่งรองรับด้วยฐานสิงห์ภายในเรือนแก้วที่มีลักษณะเป็นซุ้มคดโค้ง ปลายซุ้มทั้ง 2 ข้างมีลักษณะคล้ายหางหงส์หรือเศียรนาคที่หันหน้าไปด้านข้าง ยอดกลางเป็นกระหนกคล้ายกับเศียรนาคหันหน้าตรง ด้านบนซุ้มประดับพุ่มไม้โพธิ์มีลายกระหนกเปลวล้อม ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบของซุ้มพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 เช่นกัน ใต้ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์มีกรอบข้อความอักษรขอมสีทองบนพื้นสีแดงเหนือแถวภาพพระพุทธรูปทั้ง 5 พระองค์ มีรูปอุณาโลมเปล่งรัศมีเหนือดอกบัว กลางอุณาโลมมีอักษรขอม ใต้ดอกบัวมีอักษรขอมบนพื้นสีแดง ด้านล่างของแถวพระพุทธรูปเป็นภาพบุคคลแต่งกายคล้ายเทวดา 5 องค์ ทุกองค์ทรงเครื่องประดับซึ่งมีการปิดทอง ประกอบด้วยมงกุฎมีกรรเจียกจร กรองศอ สังวาล พาหุรัด ทองกร นุ่งผ้าเขียนลายประดับชายไหวชายแครง สวมทองพระบาทและฉลองพระบาท ประทับยืนบนแท่นประดับผ้าทิพย์ ภายในซุ้มเรือนแก้วที่คล้ายกับซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ แต่ไม่มีไม้โพธิ์ประดับ ใต้ฐานที่ประทับของแต่ละองค์มีกรอบข้อความอักษรขอมสีทองบนพื้นสีแดง พร้อมทั้งมีภาพสัตว์ ได้แก่ ไก่ นาค เต่า โค และสิงห์ภาพทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในพุทธศาสนามหายาน เนื่องจากอักษรขอมที่ปรากฏใต้ภาพพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้นอ่านได้ว่า “ไวโรจนะ” “อักโษภยะ” “รัตนสัมภาวะ” “อมิตาภะ” และ “อโมฆสิทธิ” โดยเรียงตามลำดับจากซ้ายไปขวา ซึ่งชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับข้อความอักษรขอมที่อยู่ใต้รูปอุณาโลม และอยู่เหนือภาพพระพุทธเจ้าเหล่านั้นซึ่งอ่านได้ว่า “ธยานิพุทธา”ส่วนอักษรขอมที่อยู่ใต้ภาพบุคคลที่แต่งกายคล้ายเทวดาทั้ง 5 องค์นั้น อ่านได้ว่า “สมันตภัทร” “วชิรปาณี” “รัตนปาณี” “ปัทมปาณี” และ “วิศวปาณี” ดังนั้นจึงสอดคล้องกับภาพพระธยานิพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่มีพระโพธิสัตว์ประจำองค์อยู่เบื้องล่าง และเชื่อว่าภาพสัตว์ที่อยู่เบื้องล่างของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์นั้น เป็นสัญลักษณ์สื่อแทนพระพุทธเจ้าทั้ง 5 องค์ที่ตรัสรู้ในโลกมนุษย์ ภาพอุณาโลมที่อยู่ด้านบนสุดนั้น ภายในมีอักษรขอม 3 ตัวซึ่งอ่านได้ว่า อะ อุ มะ หรือ โอม อันเป็นคำกล่าวสรรเสริญบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์มาแต่โบราณ แต่น่าสนใจว่าได้นำมาเขียนไว้เหนือข้อความและภาพของพระธยานิพุทธเจ้าซึ่งเป็นเรื่องในพุทธศาสนา
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ผนังภายในรอบพระอุโบสถเหนือช่องหน้าต่าง เขียนภาพสวนสวรรค์ทั้ง 4 แห่ง บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สวนแต่ละแห่งมีองค์ประกอบคล้ายกัน โดยภาพเทวดานางฟ้าที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างตัวละครเอกในงานจิตรกรรมประเพณี มีภาพสถาปัตยกรรมทรงปราสาทที่คล้ายกับพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เบื้องหลังเต็มไปด้วยแมกไม้และท้องฟ้าที่มีภาพเทวดาและนางฟ้าเหาะอยู่ท่ามกลางก้อนเมฆ ด้านหน้าของฉากพระมหาปราสาทเป็นภาพสระบัวขนาดใหญ่ที่มีเรืออยู่กลางสระ มีลักษณะคล้ายเรือพระที่นั่ง ฉากด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องช้างเอราวัณที่เชื่อกันว่าแต่ละงามีสระบัว 7 สระ แต่ละสระมีดอกบัว 7 ดอก แต่ละดอกมีกลีบ 7 กลีบ และมีเทพธิดาสถิต 7 องค์
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องมโหสถชาดก
เนื้อหาภาพจิตรกรรมเป็นเรื่องราวตามแบบแผนประเพณี เช่น เรื่องพุทธประวัติ เทพชุมนุมทศชาดก และไตรภูมิโลกสัณฐาน จึงแสดงความสมจริงตามเรื่องราวอันเป็นปรัมปราคติ แต่ในขณะเดียวกันภาพจิตรกรรมยังได้สะท้อนแนวคิดแบบสมจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่เกิดจากทัศนคติอย่างตะวันตกที่เริ่มแพร่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังจะเห็นได้จากรายละเอียดอันเป็นความสมจริงในฉากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน วิถีชีวิตผู้คน ซึ่งมีสอดแทรกจากภาพที่เป็นเนื้อหาหลัก ภาพจิตรกรรมยังปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบไทยประเพณี เช่น ภาพกษัตริย์ มเหสี ที่เขียนอย่างตัวพระ ตัวนางในวรรณคดีที่แสดงออกด้วยท่านาฏลักษณ์ การปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญต่างๆ ฉากเหตุการณ์ต่างๆ ใช้พื้นหลังสีเข้ม จึงขับเน้นให้ภาพปราสาทราชวัง อาคารบ้านเรือน รวมทั้งตัวละครที่มีสีอ่อนกว่าและปิดทองในบางตำแหน่งให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน
ภาพเขียนสีฝุ่น ใช้เทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตกโดยคำนึงถึงหลักทัศนียวิทยา ทำให้ภาพมีมิติและระยะใกล้-ไกล ใช้ภาพพระมหาปราสาทและอาคารต่างๆในพระบรมมหาราชวังเป็นฉากหลังในการเล่าเรื่อง ภาพอาคารบ้านเรือน ภาพการแต่งกายของบุคคลไม่ว่าจะเป็นขุนนาง ทหาร และชาวบ้าน เป็นไปตามสมัยนิยมในขณะนั้น
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติ
เรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร มีจารึกปรากฏที่โคนเสาคู่หน้าใกล้พระประธานทั้ง 2 ต้น ความว่า “อนึ่งได้มีพระพุทธสุภาษิตแสดงฉฬาภิชาติไว้ดังนี้1. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ คือต่ำต้อยและขัดสน ทั้งเกิดนิยมธรรมดำ คืออกุศลจริตต่างๆ2. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมธรรมขาว คือกุศลจริตต่างๆ3. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมนิพพาน อันไม่ดำไม่ขาว4. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว คือสูงและมั่งมี แต่เกิดนิยมธรรมดำ5. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว ทั้งเกิดนิยมธรรมขาว6. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว เกิดนิยมนิพพาน ที่ไม่ดำไม่ขาว”ภาพจิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่โคนเสา โดยเรียงลำดับจากเสาคู่แรกใกล้พระประธาน ได้แก่เสาคู่ที่ 1 ภาพพระพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาต พื้นเสาสีขาวอ่อนเสาคู่ที่ 2 ภาพพระภิกษุและนักบวช พื้นเสาสีขาว เสาคู่ที่ 3 ภาพอุบาสกอุบาสิกา นุ่งห่มด้วยชุดขาว พื้นเสาสีเหลือง เสาคู่ที่ 4 ภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดี พื้นเสาสีแดง เสาคู่ที่ 5 ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษ พื้นเสาสีเขียว เสาคู่ที่ 6 ภาพคนล่าสัตว์หรือนายพราน พื้นเสาสีคราม เมื่อศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎกร่วมกับการจัดวางตำแหน่งของภาพบุคคลแต่ละกลุ่ม ทำให้สันนิษฐานได้ว่าภาพเหล่านี้น่าจะจัดได้เป็น 3 กลุ่ม คือ1. กลุ่มที่นิยมนิพพาน ไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ ภาพพระพุทธเจ้า ภิกษุ และนักบวชที่เสาคู่แรกและคู่ที่ 2 ใกล้กับพระประธาน ซึ่งน่าจะหมายรวมทั้งผู้ที่มีกำเนิดสูงและต่ำ แต่มีความตั้งใจที่จะออกบวชเพื่อบรรลุนิพพาน2. กลุ่มที่นิยมธรรมขาว ได้แก่ ภาพอุบาสกอุบาสิกาที่นุ่งห่มด้วยชุดขาวที่เสาคู่ที่ 2 กับภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีที่เสาคู่ที่ 3 ซึ่งมีความสุจริตกาย วาจา ใจ ตามฐานันดรภาพของตน โดยภาพอุบาสกนุ่งห่มขาวก็อาจหมายถึงบุคคลที่มีกำเนิดไม่ว่าจะสูงหรือต่ำต้อยแต่เลือกที่จะประพฤติดี ส่วนภาพกษัตริย์ พราหมณ์และคหบดี หมายถึง บุคคลที่มีชาติกำเนิดสูงซึ่งสอดคล้องกับข้อความในพระไตรปิฎกด้วย 3. กลุ่มที่นิยมธรรมดำ ได้แก่ ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษที่เสาคู่ที่4 กับภาพคนล่าสัตว์ที่เสาคู่ที่ 5ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ทำบาป ทั้งบุคคลที่เกิดในสกุลต่ำ มีความอดอยากจึงจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ หรือบุคคลที่แม้เกิดในตระกูลสูงแต่เมื่อประพฤติผิดก็ย่อมถูกลงโทษ รวมทั้งบุคคลบางกลุ่มที่จำเป็นต้องทำบาปด้วยหน้าที่เช่นการเป็นผู้ตัดสินความผิดของนักโทษ หรือมีอาชีพเป็นเพชฌฆาต