ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมเรื่องมโหสถชาดก
คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง, จิตรกรรมเรื่องมโหสถชาดก, วัดสุวรรณาราม , วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย, วัดทอง
ชื่อหลัก | วัดสุวรรณาราม |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย, วัดทอง |
ประเภทงานศิลปะ | จิตรกรรม |
ตำบล | ศิริราช |
อำเภอ | เขตบางกอกน้อย |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.763302 Long : 100.476838 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 659661 N : 1522037.25 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในพระอุโบสถ |
ประวัติการสร้าง | วัดสุวรรณาราม เขตบางกอกน้อย หรือ วัดทอง เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามว่า วัดสุวรรณาราม สันนิษฐานว่าพระอุโบสถคงสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 1 และอาจมีภาพจิตรกรรมฝีมือพระอาจารย์นาค ช่างพระที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 จิตรกรรมคงชำรุดมากจึงบูรณะใหม่โดยเขียนแทนของเดิมทั้งหมด |
---|---|
ลักษณะทางศิลปกรรม | เนื้อหาภาพจิตรกรรมเป็นเรื่องราวตามแบบแผนประเพณี เช่น เรื่องพุทธประวัติ เทพชุมนุมทศชาดก และไตรภูมิโลกสัณฐาน จึงแสดงความสมจริงตามเรื่องราวอันเป็นปรัมปราคติ แต่ในขณะเดียวกันภาพจิตรกรรมยังได้สะท้อนแนวคิดแบบสมจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่เกิดจากทัศนคติอย่างตะวันตกที่เริ่มแพร่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังจะเห็นได้จากรายละเอียดอันเป็นความสมจริงในฉากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน วิถีชีวิตผู้คน ซึ่งมีสอดแทรกจากภาพที่เป็นเนื้อหาหลัก ภาพจิตรกรรมยังปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบไทยประเพณี เช่น ภาพกษัตริย์ มเหสี ที่เขียนอย่างตัวพระ ตัวนางในวรรณคดีที่แสดงออกด้วยท่านาฏลักษณ์ การปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญต่างๆ ฉากเหตุการณ์ต่างๆ ใช้พื้นหลังสีเข้ม จึงขับเน้นให้ภาพปราสาทราชวัง อาคารบ้านเรือน รวมทั้งตัวละครที่มีสีอ่อนกว่าและปิดทองในบางตำแหน่งให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | จิตรกรรมภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม เขตบางกอกน้อย เขียนภาพเรื่องพุทธประวัติ เทพชุมนุม และทศชาดก เป็นตัวอย่างงานช่างจิตรกรรมชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ห้องภาพหนึ่งเขียนเรื่องมโหสถชาดกซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงกล่าวไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่าน่าจะเป็นฝีมือของครูคงแป๊ะซึ่งเป็นช่างพระที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น ภาพมโหสถชาดกนี้เป็นตอนสงคราม 101 ทัพ มโหสถโพธิสัตว์บัญชาการรบฝ่ายเมืองมิถิลา โดยออกอุบายให้เกวัฏปุโรหิตผู้นำกองทัพ 101 ทัพ ก้มลงเก็บมณีที่มโหสถปล่อยให้หล่นลงพื้น มโหสถได้ทีจึงกดบ่าและรั้งขอบผ้านุ่งของปุโรหิตไว้ แล้วให้ทหารช่วยกันตะโกนร้อง เป็นเหตุให้ทหารฝ่ายเกวัฏเข้าใจผิดและแตกพ่ายหนีไป ช่างเขียนได้ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้าของบุคคลต่างๆ รวมทั้งยังแสดงภาพความวุ่ยวายของกองทัพที่แตกพ่ายสอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่อง |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-09-15 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ประยูร อุลุชาฎะ. วัดสุวรรณาราม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2540. สันติ เล็กสุขุม. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3 : ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548. |