ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐาน
จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐานภายในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหารฯ เป็นภาพภิกษุพิจารณาซากศพประเภทต่างๆจำนวน 10 ประเภท โดยแต่ละประเภทเหมาะสมกับผู้มีจริตนิสัยแตกต่างกันไป แต่ละห้องภาพมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันคือมีภาพพระสงฆ์ 1 รูป พิจารณาซากศพ 1 ประเภท โดยอยู่ในตอนล่างของภาพซึ่งแสดงถึงระยะที่อยู่ใกล้ผู้ชม เบื้องหลังในตำแหน่งที่สูงขึ้นแสดงระยะที่อยู่ไกลออกไปเป็นภาพทิวทัศน์ ประกอบด้วยทิวเขา ป่าไม้ มีเส้นขอบฟ้าเพื่อกำหนดระยะของวัตถุอื่นๆ ในภาพที่อยู่ไกลออกไปและแสดงบรรยากาศของเวลาที่น่าจะเป็นยามเย็นหรือใกล้ค่ำ ภาพอสุภกรรมฐานทั้ง 10 ประเภท ได้แก่1.อุทธุมาตกอสุภ (ศพขึ้นอืด)2. วินีลกอสุภ (ศพสีคล้ำ) 3.วิปุพพกอสุภ (ศพที่มีน้ำเหลือง) 4.วิจฉิททกอสุภ (ศพที่ถูกตัดเป็นท่อน) 5.วิกขายิตกอสุภ (ศพที่มีสัตว์ทั้งหลายกัดกินโดยอาการต่างๆ)6.วิกขิตตกอสุภ (ศพกระจุยกระจาย) 7.หตวิกขิตตกอสุภ (ศพถูกฟัน)8.โลหิตกอสุภ (ศพที่มีเลือดไหล) 9.ปุฬุวกอสุภ (ศพมีหนอน) 10.อัฏฐิกอสุภ (ศพที่เป็นร่างกระดูก)
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องเวสสันดรชาดก
ภาพมหาเวสสันดรชาดกมีฉากใหญ่ที่ผนังเหนือช่องหน้าต่างและประตูรวม 3 ด้าน เรียงลำดับจากด้านขวาของพระประธาน ได้แก่ ผนังด้านทิศใต้เป็นฉากกัณฑ์หิมพานต์ เล่าเหตุการณ์ตอนพระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ ทำให้พระเวสสันดร พระนางมัทรีและพระโอรสธิดาต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง ผนังด้านทิศตะวันออกเป็นฉากทานกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ขณะพระเวสสันดรเสด็จออกจากกรุงสีพีและได้ทรงบริจาคทางตลอดเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่ป่าหิมพานต์แม้กระทั่งม้าเทียมรถและราชรถ ผนังด้านทิศเหนือเป็นฉากนครกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ในตอนจบที่กษัตริย์ทั้งหกเสด็จกลับสู่เมืองสีพีด้วยกระบวนอิสริยยศ โดยมีฉากพระราชวังที่ละม้ายคล้ายกับพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ส่วนภาพเหตุการณ์สำคัญจากกัณฑ์อื่นๆ อยู่บริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง ซึ่งมีการจัดวางองค์ประกอบโดยให้บุคคลสำคัญของเรื่องอยู่ใจกลางภาพ แวดล้อมด้วยฉากสถานที่หรือทิวทัศน์อย่างสมจริงตามเรื่องราวในชาดก
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องธุดงควัตร
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องธุดงควัตรเขียนอยู่บริเวณหนังระหว่างช่องหน้าต่างโดยรอบพระอุโบสถ โดย 1 ห้องภาพได้เขียนรายละเอียดของข้อวัตร 1 ข้อ เรียงลำดับกันไปจนครบทั้ง 13 ข้อ โดยมีข้อความเขียนอธิบายข้อวัตรแต่ละข้อที่ใต้ภาพ ธุดงควัตรทั้ง 13 ข้อ ได้แก่1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร 4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือบาตรเป็นวัตร 7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร 8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร10. ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตร11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร 12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร13. ถือการไม่นอนเป็นวัตร การเขียนภาพเริ่มใช้เทคนิคอย่างตะวันตกแล้ว สังเกตได้จากการกำหนดเส้นขอบฟ้า การแรเงา การใช้เส้นนำสายตาเพื่อให้เห็นระยะและมิติของภาพวัตถุและบุคคลต่างๆ ภาพต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มไล่สีเพื่อแสดงความอ่อนแก่ของใบไม้ ภาพคลื่นน้ำที่มีลักษณะเป็นธรรมชาติ ฉากส่วนใหญ่เป็นภาพอาคารสถานที่ในวัดและภาพทิวทัศน์ของป่าเขาอันเงียบสงบซึ่งเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบไทยประเพณีอยู่ด้วย เช่นการเขียนภาพเทวดาทรงเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นแนวคิดและพัฒนาการของงานช่างจิตรกรรมไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สืบเนื่องจากสมัยก่อน
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรม
ภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่น โทนสีโดยรวมค่อนข้างมืดครึ้ม ใช้หลักทัศนียวิทยา (perspective) อย่างตะวันตก โดยกำหนดเส้นขอบฟ้าเพื่อเป็นจุดนำสายตา ก่อให้เกิดมิติเนื่องจากการแสดงระยะใกล้-ไกลของวัตถุหรือบุคคลในภาพ ใช้เทคนิคการเกลี่ยสีและให้แสงเงา ซึ่งแตกต่างจากการระบายสีแล้วตัดเส้นแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ภาพบุคคลแต่งกายแบบตะวันตก เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป แม้ภาพโดยรวมจะมีรูปแบบอย่างตะวันตก แต่ยังคงปรากฏภาพเทวดานางฟ้าแต่งกายทรงเครื่องอย่างไทยประเพณีอยู่ในท่าเหาะบนท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆและกลุ่มดาวต่างๆ ที่ใต้ภาพปริศนาธรรมแต่ละห้องมีข้อความอธิบายความหมายของแต่ละภาพ
จิตรกรรม จิตรกรรมเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎก
จิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเหตุการณ์การสังคายนาพระไตรปิฎกในพุทธศาสนารวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง เริ่มจากผนังด้านขวาของพระประธาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอินเดีย เรียงลำดับไปยังผนังด้านหลังซึ่งเป็นเหตุการณ์ในลังกา และผนังด้านซ้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ในล้านนาและในสมัยรัชกาลที่ 1 ผนังเบื้องหน้าพระประธานเขียนภาพตู้พระไตรปิฎก 3 ตู้ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระไตรปิฎกที่ได้รับการสังคายนาแล้ว ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ภายในตู้บรรจุพระคัมภีร์ห่อด้วยผ้ายกปิดทอง มีภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สังเกตได้จากการแต่งกายที่แตกต่างกันกำลังกราบไหว้บูชาตู้พระธรรมเหล่านั้น
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องมโหสถชาดก
เนื้อหาภาพจิตรกรรมเป็นเรื่องราวตามแบบแผนประเพณี เช่น เรื่องพุทธประวัติ เทพชุมนุมทศชาดก และไตรภูมิโลกสัณฐาน จึงแสดงความสมจริงตามเรื่องราวอันเป็นปรัมปราคติ แต่ในขณะเดียวกันภาพจิตรกรรมยังได้สะท้อนแนวคิดแบบสมจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่เกิดจากทัศนคติอย่างตะวันตกที่เริ่มแพร่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังจะเห็นได้จากรายละเอียดอันเป็นความสมจริงในฉากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน วิถีชีวิตผู้คน ซึ่งมีสอดแทรกจากภาพที่เป็นเนื้อหาหลัก ภาพจิตรกรรมยังปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบไทยประเพณี เช่น ภาพกษัตริย์ มเหสี ที่เขียนอย่างตัวพระ ตัวนางในวรรณคดีที่แสดงออกด้วยท่านาฏลักษณ์ การปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญต่างๆ ฉากเหตุการณ์ต่างๆ ใช้พื้นหลังสีเข้ม จึงขับเน้นให้ภาพปราสาทราชวัง อาคารบ้านเรือน รวมทั้งตัวละครที่มีสีอ่อนกว่าและปิดทองในบางตำแหน่งให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติ
เรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร มีจารึกปรากฏที่โคนเสาคู่หน้าใกล้พระประธานทั้ง 2 ต้น ความว่า “อนึ่งได้มีพระพุทธสุภาษิตแสดงฉฬาภิชาติไว้ดังนี้1. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ คือต่ำต้อยและขัดสน ทั้งเกิดนิยมธรรมดำ คืออกุศลจริตต่างๆ2. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมธรรมขาว คือกุศลจริตต่างๆ3. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมนิพพาน อันไม่ดำไม่ขาว4. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว คือสูงและมั่งมี แต่เกิดนิยมธรรมดำ5. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว ทั้งเกิดนิยมธรรมขาว6. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว เกิดนิยมนิพพาน ที่ไม่ดำไม่ขาว”ภาพจิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่โคนเสา โดยเรียงลำดับจากเสาคู่แรกใกล้พระประธาน ได้แก่เสาคู่ที่ 1 ภาพพระพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาต พื้นเสาสีขาวอ่อนเสาคู่ที่ 2 ภาพพระภิกษุและนักบวช พื้นเสาสีขาว เสาคู่ที่ 3 ภาพอุบาสกอุบาสิกา นุ่งห่มด้วยชุดขาว พื้นเสาสีเหลือง เสาคู่ที่ 4 ภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดี พื้นเสาสีแดง เสาคู่ที่ 5 ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษ พื้นเสาสีเขียว เสาคู่ที่ 6 ภาพคนล่าสัตว์หรือนายพราน พื้นเสาสีคราม เมื่อศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎกร่วมกับการจัดวางตำแหน่งของภาพบุคคลแต่ละกลุ่ม ทำให้สันนิษฐานได้ว่าภาพเหล่านี้น่าจะจัดได้เป็น 3 กลุ่ม คือ1. กลุ่มที่นิยมนิพพาน ไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ ภาพพระพุทธเจ้า ภิกษุ และนักบวชที่เสาคู่แรกและคู่ที่ 2 ใกล้กับพระประธาน ซึ่งน่าจะหมายรวมทั้งผู้ที่มีกำเนิดสูงและต่ำ แต่มีความตั้งใจที่จะออกบวชเพื่อบรรลุนิพพาน2. กลุ่มที่นิยมธรรมขาว ได้แก่ ภาพอุบาสกอุบาสิกาที่นุ่งห่มด้วยชุดขาวที่เสาคู่ที่ 2 กับภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีที่เสาคู่ที่ 3 ซึ่งมีความสุจริตกาย วาจา ใจ ตามฐานันดรภาพของตน โดยภาพอุบาสกนุ่งห่มขาวก็อาจหมายถึงบุคคลที่มีกำเนิดไม่ว่าจะสูงหรือต่ำต้อยแต่เลือกที่จะประพฤติดี ส่วนภาพกษัตริย์ พราหมณ์และคหบดี หมายถึง บุคคลที่มีชาติกำเนิดสูงซึ่งสอดคล้องกับข้อความในพระไตรปิฎกด้วย 3. กลุ่มที่นิยมธรรมดำ ได้แก่ ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษที่เสาคู่ที่4 กับภาพคนล่าสัตว์ที่เสาคู่ที่ 5ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ทำบาป ทั้งบุคคลที่เกิดในสกุลต่ำ มีความอดอยากจึงจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ หรือบุคคลที่แม้เกิดในตระกูลสูงแต่เมื่อประพฤติผิดก็ย่อมถูกลงโทษ รวมทั้งบุคคลบางกลุ่มที่จำเป็นต้องทำบาปด้วยหน้าที่เช่นการเป็นผู้ตัดสินความผิดของนักโทษ หรือมีอาชีพเป็นเพชฌฆาต
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี มีการจัดวางองค์ประกอบภาพดังเช่นที่นิยมในจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ในกรุงเทพ กล่าวคือ ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ ผนังระหว่างช่องหน้าต่างทั้ง 2 ข้างเขียนเรื่องทศชาดก ผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ บานประตูหน้าต่างเขียนภาพทวารบาลเหยียบมาร ตัวละครสำคัญ เช่น พระโพธิสัตว์ พระอินทร์ และเทวดาต่างๆ แสดงออกด้วยท่าทางอย่างนาฏลักษณ์ ส่วนภาพบุคคลประกอบอื่นๆ อย่าง ภาพทหาร ชาวบ้าน แสดงกิริยาอาการอย่างเป็นธรรมชาติ ภาพปราสาทราชวังเป็นแบบไทยประเพณี โดยมีภาพป้อมปราการและกำแพงพระราชวังที่เสมือนจริง มีการใช้เส้นสินเทาแบ่งภาพในบางตอน แต่ส่วนใหญ่ใช้ภาพแนวพุ่มไม้ โขดหิน แนวกำแพงวังเพื่อแบ่งตอนต่างๆ ของภาพ