ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมภาพเหมือนพระอารามหลวง

คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง, จิตรกรรมภาพเหมือนพระอารามหลวง, วัดโพธินิมิตสถิตมหาสีมาราม, วัดโพธินิมิต

ชื่อหลักวัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม
ชื่ออื่นวัดโพธิ์นิมิตร
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ตำบลบางยี่เรือ
อำเภอเขตธนบุรี
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.720352
Long : 100.483749
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 660439.09
N : 1517291.78
ตำแหน่งงานศิลปะบริเวณผนังระหว่างช่องประตูและหน้าต่างภายในพระอุโบสถ

ประวัติการสร้าง

วัดโพธินิมิตสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 โดยสมเด็จพระวันรัตน (แดง สีลวฑฒโน) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระเทพกวี โดยอุทิศที่ดินและสวนของบิดามารดาเพื่อสร้างเป็นวัดแห่งนี้ขึ้น ในพ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชผ้าพระกฐินแก่วัดแห่งนี้เป็นครั้งแรก ขณะนั้นพระอุโบสถยังมิได้เขียนตกแต่งใดๆ จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับจ้างช่าง คือ พระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนาราม ให้เขียนภาพจิตรกรรมจนเสร็จ

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สีฝุ่นบนผนังปูน

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 94ตอนที่ 126 วันที่ 13 ธันวาคม 2520 หน้า 5031

ลักษณะทางศิลปกรรม

ภาพเล่าเรื่องการเข้าไปทำสังฆกรรมภายในพระอุโบสถและการทำบุญตักบาตรของชาวบ้าน โดยใช้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นฉากหลัง โดยมีกลุ่มภิกษุกำลังเดินเข้าไปในลานและยืนอยู่รอบๆ นอกกำแพงวัดมีภาพบุคคลกำลังใส่บาตรพระภิกษุ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแสดงภาพของอุโบสถของวัดพร้อมแนวระเบียงคดล้อมรอบ โดยมีเจดีย์ทรงกลมอยู่ตรงกลาง ถัดขึ้นไปด้านบนแสดงภาพของสุสานหลวง

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ผนังระหว่างช่องหน้าต่างภายในพระอุโบสถวัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมารามเขียนภาพพระอารามหลวงอย่างสมจริงไว้หลายแห่ง เช่น ภาพวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตรวนาราม และวัดโพธินิมิตสถิตมหาสีมาราม เป็นต้น ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกของงานจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่แม้จะยังคงเป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา แต่ก็ให้ความสำคัญกับความสมจริงของสถานที่และรายละเอียดต่างๆในภาพ และใช้หลักทัศนียวิทยาที่มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นกว่าจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. ภาพวัดและบ้านเรือนที่ปรากฏในภาพเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองและวัดวาอารามในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสภาพของวัดส่วนใหญ่ยังคงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ในขณะที่บ้านเรือนโดยรอบได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

2. การเขียนจิตรกรรมฝาผนังซึ่งบันทึกภาพวัดตามลักษณะจริงเป็นรูปแบบที่เริ่มปรากฏในครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่วัดปทุมวนาราม ก่อนจะได้รับความนิยมมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น วัดโพธินิมิตร กรุงเทพมหานคร หรือ วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

-

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร แม้เนื้อเรื่องหลักของจิตรกรรมฝาผนังภายในจะเขียนเรื่องศรีธนญชัย แต่ก็มีการเขียนภาพวัดปทุมวนารามเอาไว้เป็นฉากหลังอยู่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการเขียนภาพวัดจริงๆลงบนผนัง

2. จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตัวอย่างงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการเขียนวัดจริงๆลงบนฝาผนังหลายวัด

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2017-07-25
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
บรรณานุกรม

โพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม, วัด. สมโภชพระอารามหลวง 120 ปี วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม. ม.ป.ท.: ม.ป.ป.

กฤษภา พินศรี. การวิเคราะห์อิทธิพลศิลปะและวัฒนธรรมตะวันตกที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : กรณีศึกษาเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธศิลป์รัตนโกสินทร์ : พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2556.

ประยูร อุลุชาฎะ. จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2525.