ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม

คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม, วัดคงคาราม จ.ราชบุรี

ชื่อหลักวัดคงคาราม จ.ราชบุรี
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ตำบลคลองตาคต
อำเภอโพธาราม
จังหวัดราชบุรี
ภาคภาคตะวันตก
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.715471
Long : 99.850906
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 592005.83
N : 1516421.19
ตำแหน่งงานศิลปะผนังภายในพระอุโบสถ

ประวัติการสร้าง

วัดคงคาราม จ.ราชบุรีตั้งอยู่ในย่านชุมชนมอญที่อพยพมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ได้ทรงอุปถัมภ์ ไม่ปรากฏหลักฐานการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ น. ณ ปากน้ำ เชื่อว่ามีการเขียนทับภาพเดิมที่เขียนไว้ในสมัยอยุธยาโดยยังคงเหลือเค้าเดิมอยู่บางส่วน อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ให้ความเห็นว่า หากมีการเขียนทับจริง คงหมายถึงการลบของเดิมที่ชำรุดทิ้งแล้วเขียนใหม่ เนื่องจากระเบียบในการจัดวางภาพเป็นแบบแผนที่นิยมในรัชกาลที่ 3 แล้ว โดยมีรายละเอียดที่เพิ่มเติมและแปลกตา ซึ่งอาจเป็นการปรับตัวของงานช่างในรัชกาลที่ 4

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ภาพเขียนสีฝุ่น

ลักษณะทางศิลปกรรม

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี มีการจัดวางองค์ประกอบภาพดังเช่นที่นิยมในจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ในกรุงเทพ กล่าวคือ ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ ผนังระหว่างช่องหน้าต่างทั้ง 2 ข้างเขียนเรื่องทศชาดก ผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ บานประตูหน้าต่างเขียนภาพทวารบาลเหยียบมาร ตัวละครสำคัญ เช่น พระโพธิสัตว์ พระอินทร์ และเทวดาต่างๆ แสดงออกด้วยท่าทางอย่างนาฏลักษณ์ ส่วนภาพบุคคลประกอบอื่นๆ อย่าง ภาพทหาร ชาวบ้าน แสดงกิริยาอาการอย่างเป็นธรรมชาติ ภาพปราสาทราชวังเป็นแบบไทยประเพณี โดยมีภาพป้อมปราการและกำแพงพระราชวังที่เสมือนจริง มีการใช้เส้นสินเทาแบ่งภาพในบางตอน แต่ส่วนใหญ่ใช้ภาพแนวพุ่มไม้ โขดหิน แนวกำแพงวังเพื่อแบ่งตอนต่างๆ ของภาพ

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ความนิยมเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธานด้วยเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน ด้านตรงข้ามพระประธานตอนบนเขียนเรื่องมารผจญ ผนังด้านข้างทั้งสองฝั่งระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องทศชาติ เหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ และบนสุดเป็นแถวพระอดีตพุทธเจ้านั้นเป็นการแบ่งพื้นที่เขียนภาพซึ่งนิยมในงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีความแตกต่างจากจิตรกรรมฝาผนังในสมัยอยุธยามีตัวอย่างสำคัญในกรุงเทพฯ เช่น วัดสุทัศนเทพวราราม ความนิยมดังกล่าวยังได้แพร่หลายไปยังวัดต่างๆ ในต่างจังหวัด เช่นที่พระอุโบสถ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี อันเป็นฝีมือประณีตระดับครูช่าง โดยมีสิ่งประกอบฉากที่ทำให้ดูแปลกตากว่าจิตรกรรมในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้สันนิษฐานว่าอาจเป็นพัฒนาการของงานช่างจิตรกรรมเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24-25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-09-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ประยูร อุลุชาฎะ. จิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม. กรุงเทพ : เมืองโบราณ, 2554.

สันติ เล็กสุขุม. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3 : ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548.