ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล
เจดีย์เป็นทรงระฆังแปดเหลี่ยมมีลวดบัวรัดแบ่งองค์เจดีย์ออกเป็น 3 ชั้น ผิวภายนอกองค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีน้ำตาล ส่วนยอดสุดเป็นปลียอดสีทองรองรับด้วยดอกบัวบาน 8 กลีบ เหนือปลียอดกั้นฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น ตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนระเบียงกว้าง 2 ระดับ ประดับด้วยซุ้มภาพดินเผาเป็นเรื่องทศชาติชาดกและภาพป่าหิมพานต์ ซุ้มระเบียงด้านล่างเป็นสัญลักษณ์กองทัพอากาศ ในขณะที่ทางเข้าเจดีย์ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ทั้ง 4 ด้านภายในเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางประทานพรแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวจากอินโดนีเซียไว้ที่กึ่งกลางโถง พระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามว่า “พระพุทธบรมศาสดานวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” ผนังภายในมีภาพแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวเป็นภาพสังเวชนียสถาน เพดานห้องโถงตกแต่งด้วยโมเสกแก้วเป็นรูปดอกสาละเจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ 1) ทรงแปดเหลี่ยมของเจดีย์หมายถึงมรรค 8 2) การแบ่งเจดีย์เป็น 3 ชั้น หมายถึงการบำเพ็ญบารมี 3 ขั้น ได้แก่ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี โดยแต่ละขั้นจะมีขั้นละ 10 ทัศ รวมเป็น 30 ทัศ 3) ดอกบัวบานรองรับยอดปลี หมายถึงการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นอกจากแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาแล้วยังมีบางแนวคิดที่สัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย คือ เจดีย์มีความสูง 60 เมตร หมายถึงการสร้างเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา

สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดร่องขุ่น
มีสะพานข้ามไปยังอุโบสถซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ใช้โทนสีขาว เงินและทอง ตัวอาคารทั้งหมดประดับหน้าบันด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่เป็นงานปูนปั้นประดับกระจกทั้งสิ้น ทั้งลายเครือเถา กระหนกเปลว ประติมากรรมรูปสัตว์ในคัมภีร์ผสมผสานกับจินตนาการของศิลปิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางแสดงธรรม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติที่มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ผสมผสานกับรูปทรงเชิงนามธรรมทั้งทางโลกและทางธรรมอุโบสถหลังนี้มีการผสมผสานหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้ากับทั้งตัวอาคาร ประติมากรรมและสี เช่นสีขาว หมายถึง พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ากระจกขาว หมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าสะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารสู่พุทธภูมิสันของสะพานซึ่งประดับด้วยรูปอสูรอมกันข้างละ 8 ตัว หมายถึง อุปกิเลส 18กึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมรุ ดอกบัวทิพย์ 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นพระอุโบสถ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์บันไดทางขึ้น 3 ขั้น หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ช่อฟ้าบนสันหลังคา หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา

สถาปัตยกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
วัดญาณสังวรารามแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส เขตโครงการในพระราชดำริ และเขตอุบาสกอุบาสิกา โดยสถาปัตยกรรมภายในวัดมีทั้งอาคารแบบไทยประเพณี คือ พระอุโบสถ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร อาคารแบบจีน คือ วิหารเซียน อาคารแบบไทยประยุกต์ คือ หอกลอง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากป้อมมหากาฬ และยังมีการจำลองวิหารมหาโพธิ์ พุทธคยามาไว้ด้วย หรือพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยภายใน 3 ชั้น ได้แก่ชั้นล่างเป็นโถงใหญ่สำหรับงานบำเพ็ญกุศล ชั้นสองเป็นที่ชุมนุมสงฆ์และปฏิบัติสมาธิภาวนา และชั้นสามสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก
พระอุโบสถของวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกนี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมุงกระเบื้องทำจากแผ่นเหล็กสีขาว หน้าบันทำเป็นมุขประเจิดประดับปูนปั้นลายดอกพุดตาน มีตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ปิดทองอยู่ตรงกลาง ช่อฟ้า ใบระกาเป็นปูนปั้นไม่ประดับกระจก ผนังและเสาสี่เหลี่ยมฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม เหนือประตูมีจารึกคาถาเย ธมฺมา ด้วยอักษรอริยกะ มีหลักเสมาที่มุมทั้ง 4 และแผ่นเสมาที่พื้น ที่ด้านทั้ง 4 ภายในมีเพดานไม้เรียบ ประดิษฐานพระพุทธกาญจนธรรมสถิตเป็นพระพุทธรูปประธาน มีอัครสาวก พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรอยู่เบื้องซ้ายและขวาตามลำดับ

ประติมากรรมพระพุทธนวราชบพิตร
พระพุทธรูปนี้เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ รัศมีเป็นเปลว เม็ดพระศกขมวดเป็นก้นหอย พระพักตร์แย้มสรวล พระวรกายบอบบาง สังฆาฏิเป็นเส้นเล็กยาวลงมาถึงพระอุทร ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีกลีบบัวขนาดใหญ่และปลายกลีบบัวอ่อนโค้ง มีการบรรจุ พระสมเด็จจิตรลดาซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสร้างด้วยพระองค์เองประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์จากทั่วราชอาณาจักร

ประติมากรรมปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา
งานปูนปั้นประดับผนังวิหารด้านใต้ของวัดนางพญากำลังชำรุดหลุดล่วงลงตามกาลเวลา เดิมทีคงมีงานปูนปั้นประดับทั้งด้าน แต่ปัจจุบันเหลือชัดเจนเพียงแค่ผนังระหว่างช่วงเสากลางเท่านั้น ผนังวิหารก่อด้วยศิลาแลง ทำช่องแสงหรือช่องลมไว้ตรงกลาง ตกแต่งผนังด้วยปูนปั้นเลียนแบบฝาไม้ลูกฟัก ภายในลูกฟักและช่องแสงประดับด้วยงานปูนปั้น ออกแบบเป็นลวดลายประเภทเครือเถาหรือพรรณพฤกษา ซึ่งประกอบด้วยก้าน ใบ และดอก พันเกี่ยวกันเต็มพื้นที่ผนัง

สถาปัตยกรรมปราสาทวัดพระพายหลวง
ปราสาทวัดพระพายหลวงตั้งเป็นประธานของวัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำนวนมาก โดยสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สร้างเสริมต่อเนื่องกันมาหลายยุค นับแต่ครั้งก่อนสุโขทัย สุโขทัยตอนต้น และสุโขทัยตอนปลาย ตัววัดล้อมรอบด้วยคู้น้ำ เรียกว่า ห้วยแม่โจนตัวปราสาทวัดพระพายหลวงเป็นปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูนและประดับปูนปั้น ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน เรียงตัวตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทั้ง 3 หลังอยู่ในผังเพิ่มมุมปราสาทหลังกลางและใต้พังทลายลงเหลือเพียงฐานและเรือนธาตุ ปราสาทหลังเหนือยังสมบูรณ์จนถึงส่วนยอดที่เป็นชั้นซ่อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 4 ชั้น ยอดสุดเป็นกลศ จากสภาพปัจจุบันยังคงสังเกตเห็นได้ว่าปราสาทหลังกลางมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 หลัง ซึ่งเป็นระเบียบโดยทั่วไปของศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร งานปูนปั้นประดับดั้งเดิมยังคงเห็นชัดเจนได้ที่ปราสาทหลังเหนือ (ลายปูนปั้นหลายส่วนปั้นใหม่โดยกรมศิลปากร) ที่น่าสนใจคือภาพพุทธประวัติที่หน้าบัน ทิศใต้เป็นตอนปลงพระเกศา ทิศเหนือเป็นตอนกองทัพพญามารกำลังผจญพระพุทธเจ้า และทิศตะวันตกน่าจะเป็นตอนชนะมารและตรัสรู้

สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดนางพญา
เจดีย์ประธานวัดนางพญาตั้งอยู่ทางด้านหลังวิหาร ก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก รองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยมซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบ องค์เจดีย์ประกอบด้วยส่วนสำคัญไล่จากด้านล่างไปด้านบน คือ ชุดฐานเขียงต่อด้วยฐานบัว มาลัยเถาซ้อนกัน 3 ชั้น มีมุขอยู่ที่ทิศทั้งสี่ เฉพาะมุขทิศตะวันออกเท่านั้นที่มีบันไดทางขึ้นและสามารถเข้าไปยังห้องคูหาภายในได้ ถัดขึ้นเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอด