ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน วัดเทพพลประดิษฐาราม
เจดีย์องค์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังเพิ่มมุม ฐานเขียงสี่เหลี่ยมด้านล่างรองรับฐานบัวเข่าพรหมในผังเพิ่มมุมต่อด้วยเรือนธาตุซ้อนกัน 2 ชั้น มีซุ้มที่ด้านทั้ง 4 โดยซุ้มที่เรือนธาตุชั้นแรกมีการประดิษฐานพระพุทธรูปแต่ซุ้มที่เรือนธาตุชั้น 2 ไม่สามารถประดิษฐานพระพุทธรูปได้ ส่วนยอดประกอบด้วยองค์ระฆัง บัลลังก์และปลียอด
สถาปัตยกรรมพระธาตุบังพวน
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังเพิ่มมุม ด้านล่างเป็นฐานเขียงต่อด้วยต่อด้วยฐานบัวเข่าพรหม ต่อด้วยเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมมีซุ้มจระนำแบบซุ้มลด ทั้ง 4 ด้าน ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังในผังสี่เหลี่ยมและต่อด้วยปล้องไฉน
สถาปัตยกรรมพระธาตุท่าอุเทน
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทมีเรือนธาตุ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นคูหา เรือนธาตุมีการทำประตูหลอกทั้ง 4 ทิศ มีการตกแต่งซุ้มลักษณะคล้ายใบไม้ขนาดใหญ่และตกแต่งที่เสาประดับผนังและเสามุมด้วยลายปูนปั้น ต่อด้วยเรือนธาตุจำลองอีกหนึ่งชั้นและองค์ระฆังสี่เหลี่ยมประดับลวดลาย ส่วนยอดเป็นทรงบัวเหลี่ยมยืดสูง
ประติมากรรมพระเจ้าองค์ตื้อ
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่เล็กและค่อนข้างยาว ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวขนาดใหญ่และสูง พระพักตร์สงบ ยังไม่เน้นเส้นขอบพระพักตร์ พระเนตรและพระนาสิกเล็ก พระโอษฐ์กว้าง ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิขนาดใหญ่ยาวถึงพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเท่ากัน ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวที่มีแต่บัวหงาย กลีบบัวเป็นแนวเฉียงโค้งงอน
สถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม ส่วนล่างเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ องค์ระฆังอยู่ในผังสี่เหลี่ยมตกแต่งด้วยลายกลีบบัวโดยรอบต่อด้วยบัลลังก์เป็นบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกได่และปล้องไฉนสี่เหลี่ยม
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนัง วัดทุ่งศรีเมือง
จิตรกรรมฝาผนังที่หอพระพุทธบาทนี้มีการเขียนทั้งบนผนัง บานแผละ และเสา ที่ผนังเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก พระมาลัย และพุทธประวัติ ที่บานแผละเขียนเรื่องปาจิตตกุมารชาดก จุลปทมุชาดกและสินไซ ที่เสาเขียนเรื่องสินไซ ลายเครือเถาและลายพุ่มข้าวบิณฑ์ โดยภาพจิตรกรรมแสดงเทคนิคที่น่าจะได้รับถ่ายทอดมาจากช่างหลวงในกรุงเทพมหานคร เช่น การเขียนตัวพระ-ตัวนาง การเขียนปราสาทราชวัง วรรณะสีแต่ก็มีการแทรกภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านหรือภาพกากลงไปด้วย
ประติมากรรมพระพุทธรูป วัดทุ่งศรีเมือง
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระพักตร์เสี้ยม เม็ดพระศกเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวขนาดใหญ่และสูง มีเส้นขอบพระพักตร์ พระเนตรมองตรง พระนาสิกงุ้ม พระกรรณโค้งงอน ขอบพระโอษฐ์หนายิ้มแบบล้านช้าง ชายสังฆาฎิใหญ่ยาวจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเท่ากัน
สถาปัตยกรรมโบราณสถานดงเมืองเตย
ปัจจุบันเหลือเพียงฐานอาคาร ก่ออิฐไม่สอปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอาคารประกอบด้วยฐานเขียง 4 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวอันประกอบด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้ ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในมีลวดลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กซ้อนกัน 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงาย ซึ่งเรียกว่าบัวรวน และหน้ากระดานบนอาคารหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 และ 2 มีการก่ออิฐเป็นแนวยื่นออกมาทางทิศตะวันออก และมีการย่อมุมโดยฐานเขียงชั้นที่ 1 ย่อมุม 3 ช่วง ฐานเขียงชั้นที่ 2 ย่อมุม 2 ช่วง บริเวณริมทั้ง 2 มีร่องรอยของหลุมเสากลม โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 มีรอยหลุมเสา 2 คู่ ฐานเขียงชั้นที่ 2 มีรอยหลุมเสา 1 คู่ทางด้านเหนือและตะวันออกของด้านข้างของฐานเขียงชั้นที่ 1 ที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออก มีลวดลายช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่เรียงกัน 1 แถวบริเวณทางขึ้นด้านทิศตะวันออกติดกับฐานเขียงชั้นที่ 1 มีอัฒจันทร์ก่อเป็นรูปปีกกา 1 ชั้น ต่อจากอัฒจันทร์มีการก่ออิฐเป็นลายทางเดินด้านหน้า ยาวประมาณ 28 เมตร ช่วงระหว่างกลางลานด้านหน้ามีการก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมหลายชั้น ตรงกลางจะสูงกว่าส่วนอื่น รายละเอียดส่วนฐานของโบราณสถานดงเมืองเตยที่กล่าวมานี้จึงมีลักษณะร่วมสามารถเทียบได้กับฐานของโบราณสถานในเมืองสมโบร์ไพรกุก ประเทศกัมพูชา และฐานเรือนธาตุของเจดีย์จุลประโทน นครปฐม ซึ่งเป็นโบราณสถานในศิลปะทวารวดี