ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระเจ้าองค์ตื้อ

คำสำคัญ : พระพุทธรูป, ศิลปะล้านช้าง, วัดศรีชมพูองค์ตื้อ, พระเจ้าองค์ตื้อ, พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

ชื่อหลักวัดศรีชมพูองค์ตื้อ
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลน้ำโมง
อำเภอท่าบ่อ
จังหวัดหนองคาย
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.876819
Long : 102.575245
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 Q
Hemisphere : N
E : 243068.78
N : 1978226.97
ตำแหน่งงานศิลปะพระพุทธรูปประธานในสิมใหม่

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏจารึกประวัติการสร้างแต่เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับพระเจ้าองค์ตื้อ วัดไชยะพูม นครเวียงจันทน์ ที่มีจารึกปรากฏปีที่สร้างคือ พ.ศ. 2109 แต่จากข้อมูลในศิลาจารึกกล่าวว่าพระพุทธรูปองค์หล่อขึ้นใน พ.ศ. 2105 อย่างไรก็ดี ทั้งสองก็ยังอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อสำริด

ขนาดสูง 4 เมตร หน้าตักกว้าง 3.29 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่เล็กและค่อนข้างยาว ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวขนาดใหญ่และสูง พระพักตร์สงบ ยังไม่เน้นเส้นขอบพระพักตร์ พระเนตรและพระนาสิกเล็ก พระโอษฐ์กว้าง ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิขนาดใหญ่ยาวถึงพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเท่ากัน ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวที่มีแต่บัวหงาย กลีบบัวเป็นแนวเฉียงโค้งงอน

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ตัวอย่างพระพุทธรูปในศิลปะล้านช้างที่แสดงอิทธิพลจากศิลปะล้านนา

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. พระพุทธรูปองค์นี้มีเนื้อสำริดที่ไม่เรียบแสดงถึงเทคนิคการหล่อที่ยังไม่สู้ดีนัก ซึ่งอาจเป็นเพราะขนาดพระพุทธรูปที่ใหญ่และมีการซ่อมโดยการปะติดสำริดภายหลังการหล่ออยู่ทั่วพื้นผิว

2. พระพุทธรูปองค์นี้แสดงลักษณะที่มีอิทธิพลจากศิลปะล้านนาอยู่มาก ต่างจากพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างรุ่นหลังที่เน้นเส้นต่างๆบนพระพักตร์เป็นร่องลึก พระโอษฐ์เล็กและขอบพระโอษฐ์หนา พระวรกายเพรียวบาง นิ้วพระหัตถ์ใหญ่และยาวเท่ากัน

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านช้าง
อายุต้นพุทธศตวรรษที่ 22
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานกล่าวถึงการหล่อพระเจ้าองค์ตื้อ วัดศรีชมพูองค์ตื้อนี้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมีพระราชดำริจะหล่อพระเจ้าองค์ตื้อขึ้นที่บ้านน้ำโหม่ง และได้ชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมบุญ ซึ่งชาวบ้านในท้องที่และต่างถิ่นต่างนำทองเหลือง ทองแดงมาตามจิตศรัทธาได้น้ำหนักรวมกัน 1 ตื้อ มีการแยกกันหล่อเป็นส่วนๆ ในวันสุดท้ายมีการหล่อพระเกศ เริ่มตั้งแต่เช้าแต่ก็ไม่เสร็จเพราะทองยังไม่ละลายดี พอถึงเวลาเพลก็แยกย้ายกันไป ทิ้งเบ้าไว้ในเตา เมื่อกลับมาอีกครั้ง ปรากฏทองถูกเทใส่เบ้าแล้วและมีลักษณะที่งามกว่าที่คาดไว้ เมื่อสอบถามจึงรู้ว่า มีชายชรานุ่งขาวห่มขาวมายกเบ้าจนสำเร็จ

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. พระเจ้าองค์ตื้อ วัดไชยะพูม นครเวียงจันทน์ พระพุทธรูปที่มีประวัติว่าหล่อขึ้นพร้อมกับพระเจ้าองค์ตื้อ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ จังหวัดหนองคาย

2. พระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ พระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่มีพุทธศิลป์ใกล้เคียงกับพระเจ้าองค์ตื้อนี้อย่างมาก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-17
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส, 2555.

สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545.

ประภัสรร์ ชูวิเชียร. ศิลปะลาว. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.

เจริญ ตันมหาพราน. พระพุทธรูปล้านช้าง. กรุงเทพฯ: ปราชญ์, 2554.