ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระใส
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานกลีบบัวหงาย เม็ดพระศกขนาดเล็ก รัศมีเป็นเปลวไฟขนาดใหญ่มาก พระพักตร์กลมป้อม พระหนุเสี้ยม มีขอบไรพระศก พระขนงเป็นเส้นนูนขึ้น พระเนตรมองตรง พระโอษฐ์ยิ้มแบบล้านช้าง ขอบพระโอษฐ์หนา สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายตัดตรง นิ้วพระหัตถ์ใหญ่และยาวเท่ากัน
สถาปัตยกรรมพระธาตุบังพวน
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังเพิ่มมุม ด้านล่างเป็นฐานเขียงต่อด้วยต่อด้วยฐานบัวเข่าพรหม ต่อด้วยเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมมีซุ้มจระนำแบบซุ้มลด ทั้ง 4 ด้าน ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังในผังสี่เหลี่ยมและต่อด้วยปล้องไฉน
ประติมากรรมพระเจ้าองค์ตื้อ
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่เล็กและค่อนข้างยาว ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวขนาดใหญ่และสูง พระพักตร์สงบ ยังไม่เน้นเส้นขอบพระพักตร์ พระเนตรและพระนาสิกเล็ก พระโอษฐ์กว้าง ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิขนาดใหญ่ยาวถึงพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเท่ากัน ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวที่มีแต่บัวหงาย กลีบบัวเป็นแนวเฉียงโค้งงอน
สถาปัตยกรรมธาตุดำ
เจดีย์ขนาดใหญ่นี้คงเคยเป็นประธานของวัดใดวัดหนึ่งซึ่งไม่หลงเหลือในปัจจุบัน เจดีย์ประกอบไปด้วยบัวถลาแปดเปลี่ยมซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา ถัดขึ้นไปได้แก่บัวเหลี่ยมในผังแปดเหลี่ยมซึ่งแสดงความเป็นล้านช้างอย่างแท้จริง
สถาปัตยกรรมหอพระแก้ว
หอพระแก้ว มีเค้าโครงว่าสร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอนุวงศ์หรือก่อนหน้านั้นแล้ว เนื่องจากรูปแบบมีความคล้ายคลึงกับพระอุโบสถของวัดพระศรีรัตนศาสนารามที่ประกอบไปด้วยลานประทักษิณภายในพาไลโดยรอบ อย่างไรก็ตาม หอพระแก้วคงถูกทิ้งร้างตั้งแต่คราวพระเจ้าอนุวงศ์เสียเมืองเวียงจันทน์ และต่อมาได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ หน้าบันซึ่งมีแผงแรคอสองแบ่งช่องอยู่ด้านล่างนั้น สามารถเปรียบเทียบได้กับหน้าบันของวิหารวัดองค์ตื้อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสกุลช่างเวียงจันทน์ที่ถูกสลักขึ้นในระยะหลังมากๆ (รัชกาลพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ ?) อนึ่ง ตรงช้างสามเศียรเป็นตราประจำพระราชอาณาจักรลาวก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สถาปัตยกรรมธาตุหลวง
เป็นอูบมูงหรือเนินขนาดใหญ่ในผังสี่เหลี่ยม ซึ่งเนินดังกล่าวนี้อาจมีมาก่อน ต่อมามีการสร้างธาตุขึ้นด้านบนอูบมูงดังกล่าว และยังมีการสร้างธาตุขนาดเล็กรายล้อมธาตุองค์องค์ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับบารมีของพระพุทธเจ้ารวมถึงความเกี่ยวข้องกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อนึ่ง เจดีย์องค์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าเจดีย์โลกจุฬามณี ซึ่งหมายถึงเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าในคราวออกผนวช การตั้งชื่อเจดีย์เช่นนี้ย่อมสื่อว่าเวียงจันทน์อาจเปรียบได้ดั่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และกษัตริย์เองก็เทียบได้ว่าทรงเป็นพระอินทร์
สถาปัตยกรรมมหาธาตุ
เจดีย์องค์นี้ประกอบด้วยฐานบัวขนาดใหญ่ด้านล่างซึ่งมีลวดบัวแบบล้านนา คือ เป็น.ฐานบัวสองชั้นที่มีท้องไม้คั่นกลาง แต่กลับไม่เพิ่มมุมใดๆ ฐานดังกล่าวรองรับเรือนธาตุในผังเพิ่มมุม ถัดเป็นปรากฏหลังคาลาด ชั้นซ้อนซึ่งมีเค้าโครงคล้ายบัวถลาในผังแปดเหลี่ยม และองค์ระฆังขนาดเล็ก เค้าโครงของเจดีย์องค์นี้ดูคล้ายกับเจดีย์ทรงปราสาทยอดในศิลปะล้านนาในครึ่ง หลังพุทธศตวรรษที่ 21 อย่างมาก เช่น เจดีย์วัดโลกโมฬี เชียงใหม่ ซึ่งสร้างเพื่อบรรจุพระอัฐิของโดยพระเมืองเกศเกล้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของเจดีย์องค์นี้แตกต่างพอสมควรไปจากเจดีย์ล้านนา ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวอาจแสดงให้เห็นว่าเจดีย์องค์นี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในระยะหลังด้วย
สถาปัตยกรรมสิมวัดเชียงทอง
สิมวัดเชียงทอง ถือเป็นตัวอ่างอาคารในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางที่สำคัญที่สุด ลักษณะสำคัญของสิมในสกุลช่างนี้ก็คือ แผนผังอยู่ในผังเพิ่มมุมด้านหน้า ซึ่งแผนผนังดังกล่าวอาจทำให้เกิดประตูทั้งด้านหน้าและด้านข้าง หลังคามีกรอบหน้าบันที่อ่อนโค้ง แผ่ลงเกือบจอดพื้น หน้าบันประกอบด้วยม้าต่างไหมและใช้โก่งคิ้วประดับด้านล่างของหน้าบัน สิมแบบหลวงพระบางนี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกับอาคารในศิลปะล้านนา