ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระใส

คำสำคัญ : พระพุทธรูป, พระพุทธรูปปางมารวิชัย, ศิลปะล้านช้าง, ศิลปะลาว, พระยาสุริยวงษาธรรมิกราช , พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช, พระใส, พระเสริม, วัดโพธิ์ชัย, หลวงพ่อเกวียนหัก, พระอินทร์แปลง , วัดอินทร์แปลง

ชื่อเรียกอื่นหลวงพ่อเกวียนหัก
ชื่อหลักวัดโพธิ์ชัย
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลในเมือง
อำเภอเมือง
จังหวัดหนองคาย
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.884922
Long : 102.757213
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 Q
Hemisphere : N
E : 262369.59
N : 1978882.68
ตำแหน่งงานศิลปะพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏประวัติการสร้างแต่จากรูปแบบน่าจะสร้างขึ้นปลายพุทธศตวรรษที่ 22 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 23

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อสำริด

ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว สูง 4 คืบ 1 นิ้ว
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานกลีบบัวหงาย เม็ดพระศกขนาดเล็ก รัศมีเป็นเปลวไฟขนาดใหญ่มาก พระพักตร์กลมป้อม พระหนุเสี้ยม มีขอบไรพระศก พระขนงเป็นเส้นนูนขึ้น พระเนตรมองตรง พระโอษฐ์ยิ้มแบบล้านช้าง ขอบพระโอษฐ์หนา สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายตัดตรง นิ้วพระหัตถ์ใหญ่และยาวเท่ากัน

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ตัวอย่างพระพุทธรูปสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. พระพุทธรูปในศิลปะล้านช้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ถือเป็นพระพุทธรูปในศิลปะล้านช้างอย่างแท้จริง

2. ปัจจุบันพระใสประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกและมีฐานชุกชีซึ่งยกสูงอย่างมากซึ่งเป็นอิทธิพลที่น่าจะได้รับไปจากศิลปะรัตนโกสินทร์

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านช้าง
อายุปลายพุทธศตวรรษที่ 22 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 23
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานกล่าวว่าพระใสถูกสร้างขึ้นโดยพระธิดาสามพี่น้องของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในปี พ.ศ. 2109 พร้อมกับพระสุกและพระใส โดยตั้งชื่อตามพระนามของพระธิดาทั้ง 3 โดยในระหว่างการหล่อได้มีตาผ้าขาวมาช่วยสูบเตาหลอมทองและมีห่วงกลมขนาดเท่านิ้วมือที่ฐานของพระใสจำนวน 3 ห่วง เมื่อหล่อเสร็จ พระพุทธรูปทั้ง 3 ก็ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพนชัยในอาณาจักรล้านช้างเรื่อยมา

เมื่อใดที่เกิดศึกสงคราจะมีการนำพระพุทธรูปทั้ง 3 ไปซ่อนไว้ยังถ้ำบนภูเขาควาย เมื่อสงครามสงบจึงอัญเชิญกลับมาที่เดิม หลังจากนั้นเจ้าสุริยุมารได้ทรงอธิษฐานกับพระใสว่าหากบ้านเมืองจะสงบสุขขอให้พระใสแสดงปาฏิหาริย์ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ก็ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นจริงๆ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ข้ามแม่น้ำโขง แต่พระสุกจมน้ำไปเหลือเพียง 2 องค์ และได้นำไปประดิษฐานยังวัดโพธิ์ชัยเรื่อยมา

อย่างไรก็ดี แม้ตามตำนานจะกล่าวว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแต่จากพุทธศิลป์แล้วน่าจะมีอายุหลังลงมา
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1.พระเสริม วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปที่ตามตำนานระบุว่าสร้างขึ้นพร้อมกัน แต่จากพุทธศิลป์แล้วน่าจะมีอายุสมัยเก่ากว่า คือ ปลายพุทธศตวรรษที่ 21

2. พระอินทร์แปลง วัดอินทร์แปลง จังหวัดนครพนม พระพุทธรูปอีกองค์ที่มีตำนานว่าพระอินทร์มาช่วยสร้างและมีพุทธศิลป์ร่วมสมัยกับพระใส

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-18
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส, 2555.

สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

เจริญ ตันมหาพราน. พระพุทธรูปล้านช้าง.กรุงเทพฯ: ปราชญ์, 2554.