ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 201 ถึง 208 จาก 282 รายการ, 36 หน้า
พระสยามเทวาธิราช
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสยามเทวาธิราช

รูปแบบของพระสยามเทวาธิราชเป็นประติมากรรม ทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิ ได้แก่ พระมหามงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร ทรงสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทรงสนับเพลาประดับชายไหวชายแครง ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทน์แบบเก๋งจีน มีคำจารึกภาษาจีน แปลได้ว่า “สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”เบื้องหน้าพระวิมานทองสามมุข รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชและตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชเป็นประจำ

จิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างเป็นงานจิตรกรรมดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ตั้งแต่อัญเชิญเสด็จจากลพบุรีสู่เมืองหริภุญชัยไปจนถึงการเสด็จสู่กรุงรัตนโกสินทร์และการสมโภช มีการผสมผสานระหว่างเทคนิคการเขียนแบบไทยประเพณีดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคการเขียนจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เพิ่งจะเข้ามาในสมัยนั้น ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสมจริงมากขึ้นกว่างานแบบไทยประเพณีดั้งเดิม จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเล่าประวัติของพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 โดยมีการแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบริบทสังคมในสมัยนั้นๆ ลงไปในฉาก เป็นงานที่ผสมผสานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและทัศนียวิทยาแบบตะวันตก มีการแสดงรูปบุคคล เครื่องแต่งกาย พาหนะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีตรงตามยุคสมัยในฉากนั้นๆเพื่อให้เกิดความสมจริง

พระพุทธรัตนสถาน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระพุทธรัตนสถาน

พระพุทธรัตนสถานเป็นอาคารแบบไทยประเพณีในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียวยกพื้นสูงตั้งบนฐานไพที ฐานประทักษิณ และฐานบัว ผนังด้านนอกเป็นหินอ่อน ด้านหน้ามีมุขลด รอบอาคารมีเสาพาไล ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดมงกุฎ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันมีเครื่องลำยอง หน้าบันมุขลดเป็นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพาน 2 ชั้น ขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้นซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 หน้าบันหลักทั้งหน้าและหลังเป็นรูปครุฑยุดนาคซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 2 มีรูปพระวิมานและพระมหามงกุฎประดับอยู่เบื้องล่างซ้ายและขวา มีอาคารประกอบเป็นศาลาโถง 2 หลังซ้ายขวา ด้านหน้ามีหอระฆัง และเสาประทีป 4 ต้น

พระสัมพุทธพรรณี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสัมพุทธพรรณี

พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา พระขนงโก่ง มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระเนตรเหลือบต่ำ ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วตามริ้วผ้าธรรมชาติ ชายสังฆาฏิใหญ่ปลายตัดตรงยาวถึงพระนาภี ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเหนือขาสิงห์ตกแต่งด้วยพรรณพฤกษาและลายเครือเถาแบบฝรั่ง ผ้าทิพย์ทำเป็นรูปม่านแหวกออก มีคำจารึกอักษรมอญภาษาบาลีด้านหน้ากล่าวถึงพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ไม่ทำอุษณีษะและเริ่มมีริ้วจีวรยับย่นอย่างสมจริง ซึ่งแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้มีการอธิบาย 3 แนวทาง คือ 1. เพื่อให้มีลักษณะถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาบาลี2. เพื่อให้พระพุทธรูปมีรูปแบบที่เข้ากับวิธีคิดตามแนวสัจนิยมให้สมจริงเหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น 3. เป็นการมองพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์มากขึ้นตามบริบทสังคมที่เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความเป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ

ผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าแสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วทรงกลีบบัวล้อมรอบด้วยพระสาวก พรหม และประชาชน ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปทรงเครื่องและพระพุทธรูปลีลาผนังด้านขวามือของพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธเจ้าปางประสูติ ด้านบนเขียนภาพสันดุสิตเทพบุตร ผนังด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม เหนือช่องหน้าต่างมีพระอดีตพุทธเจ้านั่งเรียงแถวกันใต้ลายพวงมาลัยและพวงอุบะ แม้การแสดงออกของฉากและตัวบุคคล เช่น หนุมาน ยักษ์ สัตว์หิมพานต์จะคงลักษณะตามแบบไทยประเพณี แต่ก็มีการแทรกรูปสัตว์และรูปบุคคลที่มีอิริยาบถ เครื่องแต่งกาย รวมถึงการจัดวางภาพตามแบบแผนสมัยปัจจุบันเข้าไปผสมผสาน

พระอุโบสถวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก

พระอุโบสถของวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกนี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมุงกระเบื้องทำจากแผ่นเหล็กสีขาว หน้าบันทำเป็นมุขประเจิดประดับปูนปั้นลายดอกพุดตาน มีตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ปิดทองอยู่ตรงกลาง ช่อฟ้า ใบระกาเป็นปูนปั้นไม่ประดับกระจก ผนังและเสาสี่เหลี่ยมฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม เหนือประตูมีจารึกคาถาเย ธมฺมา ด้วยอักษรอริยกะ มีหลักเสมาที่มุมทั้ง 4 และแผ่นเสมาที่พื้น ที่ด้านทั้ง 4 ภายในมีเพดานไม้เรียบ ประดิษฐานพระพุทธกาญจนธรรมสถิตเป็นพระพุทธรูปประธาน มีอัครสาวก พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรอยู่เบื้องซ้ายและขวาตามลำดับ

พระพุทธนวราชบพิตร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธนวราชบพิตร

พระพุทธรูปนี้เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ รัศมีเป็นเปลว เม็ดพระศกขมวดเป็นก้นหอย พระพักตร์แย้มสรวล พระวรกายบอบบาง สังฆาฏิเป็นเส้นเล็กยาวลงมาถึงพระอุทร ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีกลีบบัวขนาดใหญ่และปลายกลีบบัวอ่อนโค้ง มีการบรรจุ พระสมเด็จจิตรลดาซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสร้างด้วยพระองค์เองประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์จากทั่วราชอาณาจักร

มัสยิดต้นสน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมมัสยิดต้นสน

มัสยิดต้นสนมีอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้อง มีลูกกรงโปร่งอยู่ตลอดแนวหลังคาและกันสาดยื่นออกมา ผนังอาคารเป็นสีน้ำตาลมีการตกแต่งผนังด้านนอกด้วยลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและเรขาคณิต กรอบประตูและหน้าต่างมีลักษณะคล้ายเกือกม้า ตรงกลางมีมุขยื่นออกมามีโดมทรงกระบอกอยู่ด้านบน ฐานโดมมีซี่คาดโดยรอบ ด้านในโดมทำเป็นโครงสร้างแบบรวงผึ้ง ภายในเป็นสถานที่ทำละหมาด มีมิร์หรอบเป็นชุดเดียวกับกำแพงกิบลัต ตัวมิร์หรอบทำจากหินอ่อนมีการเจาะช่องโค้งตกแต่งด้วยงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน มีมิมบัรตั้งอยู่ด้านข้าง เพดานมีโคมไฟหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือโคมไฟพระราชทานในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้มัสยิดต้นสน