ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระสยามเทวาธิราช
คำสำคัญ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระสยามเทวาธิราช, พระพุทธรูป, รัชกาลที่ 4, เทวดา
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | พระที่นั่งไพศาลทักษิณ |
ชื่ออื่น | พระบรมมหาราชวัง, วังหลวง |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.749955 Long : 100.492038 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661315.28 N : 1520572.2 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ |
ประวัติการสร้าง | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ในกรมช่างสิบหมู่ ประชุมช่างเอกและลงมือหล่อรูปพระสยามเทวาธิราชขึ้น ด้วยทรงเชื่อว่า การที่สยามสามารถผ่านวิกฤตต่างๆมาได้เป็นเพราะมีเทวดาคอยพิทักษ์รักษาอยู่ จึงโปรดให้หล่อรูปเทวดานั้นขึ้นไว้สักการบูชา |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | หล่อด้วยทองคำ |
ประวัติการอนุรักษ์ | - |
ขนาด | 20 เซนติเมตร (8 นิ้ว) |
ลักษณะทางศิลปกรรม | รูปแบบของพระสยามเทวาธิราชเป็นประติมากรรม ทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิ ได้แก่ พระมหามงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร ทรงสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทรงสนับเพลาประดับชายไหวชายแครง ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทน์แบบเก๋งจีน มีคำจารึกภาษาจีน แปลได้ว่า “สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”เบื้องหน้าพระวิมานทองสามมุข รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชและตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชเป็นประจำ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสยามเทวาธิราช ด้วยมีพระราชดำริว่าสายามรอดพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆมาได้เพราะมีเทวดาผู้เป็นใหญ่คุ้มครองรักษาบ้านเมือง พระสยามเทวาธิราชมีรูปแบบเป็นเทวดาแบบไทยประเพณี อยู่ในท่าประทับยืน สวมเครื่องทรงและเครื่องประดับต่างๆ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบพระหัตถ์ นับเป็นเทวรูปที่สำคัญของบ้านเมืองและราชสำนักในสมัยรัตนโกสินทร์ |
ข้อสังเกตอื่นๆ | 1. เวลาที่แน่ชัดของการสถาปนาพระสยามเทวาธิราชในปัจจุบันยังไม่เป็นที่สรุป สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2396 ในขณะที่หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2401 – 2403 อย่างไรก็ดี พระสยามเทวาธิราชน่าจะสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2404 เพราะเป็นปีแรกที่ปรากฏชื่อพระสยามเทวาธิราชในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งซึ่งกล่าวถึงเรื่องพระราชทานไปเขาคอก 2. เดิมพระสยามเทวาธิราชนี้ประดิษฐานอยู่ภายในพระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระมหามณเฑียร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณและยังคงประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้จนถึงปัจจุบัน ในพระวิมานทองสามมุขร่วมกับพระสุรัสวดี พระนารายณ์ทรงครุฑ พระอิศวรและพระอุมา 3. แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรับแนวความคิดแบบตะวันตกแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ยังทรงมีความเชื่อในเรื่องเทวดาอยู่ ดังจะเห็นจากการสร้างรูปพระสยามเทวาธิราชนี้ขึ้นในรัชกาลของพระองค์ |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24-25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | - |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | - |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | พระป้าย ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระบรมรูปที่มีรูปแบบเดียวกันกับพระสยามเทวาธิราชแต่มีพระพักตร์คล้ายกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2017-05-11 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ปัญญาวัฒน์. พระสยามเทวาธิราช. กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือรัตนโกสินทร์, 2550. อภินันท์ โปษยานนท์. จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก. เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพระราชวัง, 2536. พิชญา สุ่มจินดา. ถอดรหัสพระจอมเกล้า. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557. มูลนิธินวมหาราชานุสรณ์. ประวัติพระแก้วมรกตและพระสยามเทวาธิราช. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ, 2525 |