ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 73 ถึง 80 จาก 282 รายการ, 36 หน้า
 จิตรกรรมเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎก
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรม จิตรกรรมเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎก

จิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเหตุการณ์การสังคายนาพระไตรปิฎกในพุทธศาสนารวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง เริ่มจากผนังด้านขวาของพระประธาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอินเดีย เรียงลำดับไปยังผนังด้านหลังซึ่งเป็นเหตุการณ์ในลังกา และผนังด้านซ้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ในล้านนาและในสมัยรัชกาลที่ 1 ผนังเบื้องหน้าพระประธานเขียนภาพตู้พระไตรปิฎก 3 ตู้ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระไตรปิฎกที่ได้รับการสังคายนาแล้ว ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ภายในตู้บรรจุพระคัมภีร์ห่อด้วยผ้ายกปิดทอง มีภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สังเกตได้จากการแต่งกายที่แตกต่างกันกำลังกราบไหว้บูชาตู้พระธรรมเหล่านั้น

ใบเสมา
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมใบเสมา

ใบเสมาแบบแผ่นแบน ชำรุดเสียหายมาก แต่ยังเห็นภาพสลักเรื่องได้ชัดเจน พระพุทธองค์ยืน พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรมทั้ง 2 ข้าง พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรเหลือบต่ำและโปนใหญ่ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้างพระพุทธองค์ครองจีวรห่มคลุม ชายจีวรด้านหน้าพาดผ่านพระชานุเป็นรูปโค้ง ขณะที่ชายจีวรด้านหลังตกลงมาเป็นกรอบสี่เหลี่ยมยาวจนถึงข้อพระบาท สบงยาวจรดข้อพระบาทเช่นกันเบื้องซ้ายของพระองค์มีภาพบุคคลขนาดเล็กสวมเครื่องทรงดังเทวดายืนเคียงข้าง ถัดขึ้นไปมีเทวดาประนมกรแทรกกายอยู่หลังเมฆ จากภาพถ่ายเก่าทำให้เห็นว่าภาพทางเบื้องขวาของพระองค์มีการจัดวางองค์ประกอบแบบนี้เช่นกัน แต่ปัจจุบันได้ชำรุดสูญหายแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นพุทธประวัติตอนใด แต่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเล่าพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะมีเทวดาขนาบอยู่ 2 ข้าง

พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท
นครปฐม
ประติมากรรมพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท

พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทองค์นี้ผ่านการบูรณะครั้งใหญ่มาแล้ว ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบพระวรกาย ไม่มีริ้ว พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่เหนือพรเพลา มีดอกบัวรองรับพระบาทไว้ พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงนูนและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์ใหญ่ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะสูง และมีพระรัศมีรูปลูกแก้ว

แผ่นหินสลักภาพมงคล
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมแผ่นหินสลักภาพมงคล

แผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางและมุมทั้งสี่มีหลุมตื้นๆ ที่ล้อมรอบด้วยกลีบบัว อาจใช้สำหรับใส่พวกเครื่องหอมที่ใช้ในพิธีกรรม ตอนบนของแผ่นหินมีช้าง 2 เชือกทำท่าสรงน้ำให้สตรีซึ่งนั่งอยู่ตรงกลาง นักวิชาการเรียกภาพนี้ว่า “คชลักษมี” หรือ “อภิเษกศรี” ด้านล่างปรากฏสัญลักษณ์มงคลต่างๆ และมีส่วนหนึ่งเป็นเครื่องสูงประกอบอยู่ด้วย ทั้งหมดสลักเป็นคู่ๆ ได้แก่ จามร (แส้) วัชระ (สัญลักษณ์ของสายฟ้า) อังกุศะ (ขอสับช้าง) พัด ฉัตร บ่วง ส่วนภาพ ปลา สังข์ และปูรณกลศ (หม้อ) 1 ใบ

ภาพสลักพระพุทธรูป
สระบุรี
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป

ภาพสลักนูนต่ำกลุ่มนี้สลักภาพพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยอยู่ทางซ้ายสุดของกลุ่ม พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่บนบัลลังก์ พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรม ถัดมาทางขวาเป็นภาพบุคคลเศียรเดียว สองกร ประทับในท่านั่งแบบลลิตาสนะ เชื่อว่าเป็นพระศิวะเพราะพระหัตถ์ซ้ายทรงอักษมาลา (ลูกประคำ) ถัดมาเป็นรูปพระวิษณุยืน โดยสังเกตได้จากการมีสี่กร พระกรปกติไขว้กันที่พระอุระ เป็นกิริยาแสดงความนบนอบต่อพระพุทธเจ้า พระหัตถ์อีก 2 ข้างทรงจักรและสังข์ ถัดไปทางขวามีรูปเทวดาเหาะ 2 องค์ และฤาษี 1 ตน

พระพิมพ์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพิมพ์แสดงภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถีเพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์นี้ พระพุทธเจ้านั่งสมาธิบนบัลลังก์ซึ่งวางอยู่ใต้ต้นมะม่วง มีแส้กางกั้นเหนือพระเศียร แส้ปักอยู่ 2 ข้าง ถัดออกไปเป็นภาพคล้ายสถูป ทั้งสองข้างแวดล้อมด้วยภาพบุคคลจำนวนมาก คงมีทั้งบุคคลในโลกมนุษย์ และทิพยบุคคลจากสวรรค์ถัดขึ้นไปด้านบนตามกิ่งก้านของต้นมะม่วงปรากฏภาพพระพุทธนิรมิตในอิริยาบถต่างๆ 5 องค์ เบื้องล่างสุดมีตัวอักษรเขียนคาถา เย ธมฺมา ปรากฏอยู่

ปูนปั้นรูปนักดนตรี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมปูนปั้นรูปนักดนตรี

ประติมากรรมปูนปั้นนี้ทำรูปสตรี 5 คน นั่งพับเพียบเรียงกัน สวมเฉพาะผ้านุ่ง ท่อนบนมีเพียงผ้าคล้องไหล่ไว้เท่านั้น สตรีทางซ้ายสันนิษฐานว่ากำลังตีกรับ สตรีคนถัดมาน่าจะทำหน้าที่ขับร้อง สตรีคนกลางถือเครื่องดนตรีประเภทพิณ 5 สาย คล้ายกระจับปี่หรือซึง สตรีคนถัดมาทำหน้าที่ตีฉิ่ง และสตรีทางขวาสุดกำลังดีดพิณ

ตุ๊กตารูปคนจูงลิง
สุพรรณบุรี
ประติมากรรมตุ๊กตารูปคนจูงลิง

ตุ๊กตาดินเผาขนาดเล็ก ศีรษะและเท้าชำรุดหักหาย ลักษณะเป็นประติมากรรมเพศชาย เปลือยเปล่า ประดับสร้อยคอ สายคาดเอว และกำไลข้อมือ มือขวาถือโซ่ล่างลิงซึ่งนั่งอยู่ระหว่างขาสองข้าง มือซ้ายถือพวงผลไม้