ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมวังวรดิศ
พระตำหนักวังวรดิศเป็นคฤหาสน์แบบยุโรป 3 ชั้นหันหน้าไปทางทิศเหนือ ตัวอาคารมีแผนผังเป็นรูปตัว L หลังคาทรงสูงมุงกระเบื้อง มีหน้าต่างระบายอากาศรูปหลังคา มุมอาคารชั้นสองตกแต่งด้วยเสาประดับปูนปั้นรูปคล้ายกลีบบัวซ้อนกัน ประตูและหน้าต่างทรงโค้งตกแต่งขอบบนของหน้าต่างด้วยลายปูนปั้น ภายในชั้นล่างมีห้องรับแขกแบบจีน ห้องเสวย ห้อง Study และห้องโถงบันไดเวียน ชั้นสองมีห้องบรรทม ห้องทรงพระอักษร ห้องทรงงานกลางคืน ห้องแต่งพระองค์และห้องพระบรมอัฐิ ชั้นสามเป็นห้องเก็บของ
สถาปัตยกรรมวังบางขุนพรหม
ตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหมหรือตำหนักทูลกระหม่อมเป็นอาคาร 2 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารมีลักษณะโค้งเข้าโค้งออกและนูนต่อเนื่อง ใช้หลังคาแบบมันสาร์ดมุงกระเบื้องว่าว ปีกด้านทิศใต้มีหอคอยสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ตกแต่งด้วยเสาหลายชนิดทั้งเสากลม เสาเหลี่ยม เสาแบน เสาบิดเป็นเกลียว หัวเสาตกแต่งด้วยงานปูนปั้น หน้าตามีทั้งหน้าต่างรูปไข่ล้อมด้วยปูนปั้นดอกคัทลียาและหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมตกแต่งด้วยลายเครือไม้และผลไม้ ภายในชั้นล่างมีห้องรับแขก 2 ห้อง ห้องเสวยขนาดใหญ่ 2 ห้อง ห้องสมุด และห้องทรงพระอักษร ชั้นบนเป็นห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องพระ ห้องสีชมพู ห้องสีน้ำเงินตำหนักสมเด็จเป็นอาคาร 3 ชั้นมีทางเชื่อมกับตำหนักใหญ่ เป็นอาคารคฤหาสน์แบบชนบทของเยอรมนี ภายนอกตกแต่งด้วยลายปูนปั้นอย่างเรียบง่าย ภายในมีการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและกระจกสี นอกจากนี้ภายในวังบางขุนพรหมยังมีตำหนักน้อยใหญ่อีกหลายหลัง เช่น ตำหนักหอ ตำหนักเล็ก ตำหนักน้ำ เรือนกล้วยไม้และกระโจมแตร
ประติมากรรมอุทยานราชภักดิ์
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์สยามตั้งอยู่บนแท่นเหนือฐานสีขาวยกมุมบริเวณที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ มีพานพุ่มที่มุมทั้ง 2 ฝั่ง มีพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 7 พระองค์ ได้แก่1. พ่อขุนรามคำแหงมหาราชประทับยืน ทรงถือพระแสงของ้าวในอิริยาบถโน้มลงแผ่นดิน 2. สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับยืน ทรงถือทวนและสะพายพระแสงดาบในชุดนักรบ3. สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับยืน ทรงฉลองพระองค์ครุยและทรงมงกุฎ พระหัตถ์อยู่ในท่าเตรียมชักพระแสงดาบ4. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับยืน ทรงถือพระแสงดาบในท่าพร้อมรบ 5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชประทับยืน ทรงถือพระแสงดาบในฝัก6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือกล้องดูดาว พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระแสงดาบ 7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับยืน ทรงฉลองพระองค์แบบตะวันตก พระหัตถ์ซ้ายทรงจับกระบี่ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระมาลา
ประติมากรรมอนุสาวรีย์สหชาติ
อนุสาวรีย์เป็นรูปหมูยืนอยู่บนเนินหินหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านขวาของหมูตอนล่างเป็นชะโงกหินสูงใช้กันแดดฝนได้ ที่ฐานมีศิลาจารึกเป็นหินชนวนสีเทาขนาดกว้าง 80 ซม. สูง 58 ซม. จารึกข้อความถวายพระพรแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถว่า“โอม...(ข้อความลบเลือน)...ขอองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระเกียรติแพร่ พระชนมายุยืน ตราบศิลาลาญ...(ข้อความลบเลือน)”
ประติมากรรมพระพุทธปริตร
พระพุทธปริตรประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณค่อนข้างยาว พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยขนาดเล็ก ไม่มีอุษณีษะแต่มีรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว มีสังฆาฏิปลายตัดตรงพาดที่พระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี องค์พระระบายสีเหลืองส่วนพระภูษาทรงระบายสีแดงเข้ม
สถาปัตยกรรมพระตำหนักดอยตุง
พระตำหนักดอยตุงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ผสมผสานสถาปัตยกรรมล้านนาและชาเลต์ของสวิสส์ ผนังด้านนอกปิดด้วยปีกไม้สักทอง ผนังด้านในบุด้วยไม้สนภูเขา ชั้นบนจะเสมอกับลานกว้างของยอดเนินเขา ชั้นล่างจะลดหลั่นไปตามเนินเขา ชั้นบนแบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นท้องพระโรงซึ่งมีชั้นยกใต้หลังคาสำหรับเก็บของ ที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และที่ประทับของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงครามเหนือจั่วหลังคาพระตำหนักเป็นกาแลจำหลักลาย เชิงชายแกะลายเมฆไหล ตามขอบหน้าต่างและระเบียงแกะสลักเป็นภาพการดำเนินชีวิตของชาวเหนือเกี่ยวกับช้างและป่าไม้ ภายในห้องประดับด้วยไม้แกะสลักศิลปะพื้นบ้านเป็นรูปดอกไม้ กลุ่มดาวและสัตว์ผนังเชิงบันไดสู่ชั้นล่างแกะเป็นตัวอักษรภาษาไทย ตรงลูกกรงเป็นไม้จำหลักรูปเลขไทย ภายในท้องพระโรงบุฝาผนังด้านหนึ่งด้วยผ้าไหมปักรูปดอกไม้ และประดับภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ เสาบางต้นแขวนผ้าครอสติชเป็นรูปต่างๆ หน้าประตูห้องบรรทมเป็นผ้าตัวอักษรภาษาอังกฤษล้อมด้วยดอกไม้ตามอักษรขึ้นต้น ด้านหลังพระตำหนักเป็นระเบียงยาว บริเวณกระบะสำหรับปลูกดอกไม้แกะสลักภาพโขลงช้างในป่าและช้างทำงาน ด้านหน้าพระตำหนักเป็นสนามหญ้าและสวนดอกไม้ ชั้นล่างเป็นส่วนที่พักและที่ทำการของข้าราชบริพาร บนผนังจารึกบทกวีของสุนทรภู่เรื่องสุนทรภู่ ด้านหน้าสวนหน้าพระตำหนักไปทางด้านที่ประทับมีสวนครัวเล็กๆส่วนพระองค์ ทำแปลงผัก
สถาปัตยกรรมวัดปรมัยยิกาวาส
วัดปรมัยยิกาวาสมีพระอุโบสถเป็นประธาน หน้าบันประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 5 รูปพระจุลมงกุฎ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานและพระสาวก จิตรกรรมฝาผนังภายในเขียนเรื่องธุดงควัตรและพุทธประวัติภายหลังการตรัสรู้ ฝีมือของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ด้านหลังพระอุโบสถคือพระมหารามัญเจดีย์ ภายในวัดยังมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปหินอ่อนและพระนนทมุนินท์ พระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี เพดานตกแต่งด้วย ศาลารับเสด็จ และพระเจดีย์มุเตา เจดีย์ในศิลปะมอญสีขาวริมน้ำ
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศา รัศมีเป็นเปลวไฟ มีพระเกตุมาลา พระอังสาใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม จีวรบางเรียบไม่มีริ้ว ปรากฏรัดประคดและจีบเป็นแถบที่สบง ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายบนฐานแปดเหลี่ยม