ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 177 ถึง 184 จาก 884 รายการ, 111 หน้า
ธรรมจักร
สุพรรณบุรี
ประติมากรรมธรรมจักร

ธรรมจักรชุดนี้พบว่ามีส่วนประกอบครบทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ เสาแปดเหลี่ยม ฐานสี่เหลี่ยม และธรรมจักร โดยฐานสี่เหลี่ยมทำหน้าที่ยึดตรึงให้ธรรมจักรวางอยู่บนยอดเสาได้โดยไม่ร่วงหล่นธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรแลดูโปร่ง นอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายดอกไม้กลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบกงมีลวดลายกนกคล้ายเปลวไฟ เบื้องล่างมีแผงสามเหลี่ยมรับน้ำหนัก ทั้งยังมีกลีบบัวรองรับ และมีเดือยยาวเสียบลงไปในแท่นสี่เหลี่ยมฐานสี่เหลี่ยมประดับตกแต่งด้วยลายดอกไม้กลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มุมทั้งสี่ออกแบบลวดลายเลียนแบบมกร มีช่องเจาะทะลุตรงกลางเพื่อรับเดือยของธรรมจักรและของเสา ทำหน้าที่ยึดตรึงเสากับธรรมจักรให้ติดกัน เสาธรรมจักรมีลำตัวอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ด้านล่างสุดสลักรูปหงส์และดอกบัวรองรับลำตัวเสา ยอดสาสลักลายพวงมาลัยและอุบะดอกไม้ ถัดขึ้นไปเป็นเดือยที่สอดเข้าไปในฐานสี่เหลี่ยม

พระอิศวร
กำแพงเพชร
ประติมากรรมพระอิศวร

พระอิศวรอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานสี่เหลี่ยม พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นในระดับพระโสณี (สะโพก)พระพักตร์สี่เหลี่ยม เคร่งขรึม พระเนตรประดับมุก มีพระเนตรที่สามวางขวางตามแนวตั้งอยู่กลางพระนลาฏ พระฑาฏิกะ (เครา) ยาว ทรงกระบังหน้าเหนือพระนลาฏ เกล้าพระเกศาเป็นมวยทรงกระบอก ประดับอุณาโลมที่กลางมวยพระเกศา ทรงกุณฑลทรงตุ้มแหลม สุนทรียภาพโดยรวมแสดงถึงแรงบันดาลใจจากประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์ในวัฒนธรรมลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยเด่นชัดมาก พระวรกายส่วนบนประดับด้วยกรองศอ พาหุรัดที่ทำเป็นรูปนาค และทรงสังวาลนาค พระวรกายส่วนล่างทรงสมพตสั้น ชักชายผ้าออกมาเป็นวงที่บริเวณพระอุทร ตรงกึ่งกลางมีชายผ้าซ้อนลงมา 3 ชั้นประดับตกแต่งด้วยลายช่อดอกไม้ ส่วนลวดลายของตัวผืนผ้าเป็นเส้นตามแนวตั้งและมีลายที่เชิงผ้า มีเข็มขัดประดับตกแต่งด้วยตุ้งติ้งรัดสมพตนี้ไว้ รูปแบบโดยรวมของสมพตสะท้อนความเกี่ยวข้องกับการนุ่งสมพตในประติมากรรมศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยแบบบายน แต่ขณะเดียวกันการประดับตกแต่งด้วยลายช่อดอกไม้ที่คล้ายงานในสมัยอยุธยาตอนกลาง

พระโพธิสัตว์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานที่มีจารึก พระหัตถ์ขวาชำรุดทราบแต่เพียงยกขึ้นระดับพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา พระเกศายาวเกล้าเป็นมวยดังนักบวช สวมเครื่องทรงต่างๆ อาทิ กรองศอ พาหุรัด ทองพระกร ทองพระบาท

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานสูงที่ประดับตกแต่งด้วยกลีบบัวหงายและเหตุการณ์ตอนตรัสรู้หรือชนะมารลักษณะเด่นของพระพุทธรูปคือ มีวงพระพักตร์ค่อนข้างเป็นวงรูปไข่ พระรัศมีเปลว โดยรวมสะท้อนการคลี่คลายจากศิลปะสุโขทัยอันเป็นรูปแบบหนึ่งของพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนกลาง ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบเนื้อ ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ฐานรองรับพระพุทธรูปเป็นฐานสูงที่ประดับตกแต่งด้วยเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ แถวล่างสุดเป็นกองทัพของพญามารที่เข้ามาผจญพระพุทธองค์ โดยตัวพญามารขี่ช้างอยู่ทางขวาของพระพุทธรูป ตรงกลางในตำแหน่งที่เหนือกว่าไพร่พลมารขึ้นมาเป็นรูปแม่พระธรณีกำลังบีบมวยผม ด้านซ้ายของพระพุทธรูปเป็นพญามารบนหลังช้างกำลังพ่ายแพ้

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระนครศรีอยุธยา
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานบัวที่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆ รูปแบบในภาพรวมสะท้อนถึงการสืบต่อจากพระพุทธรูปรุ่นก่อนกรุงศรีอยุธยา-อยุธยาตอนต้น หรือพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในศิลปะสุโขทัยด้วยรูปแบบสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ที่สืบต่อจากพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ได้แก่ นั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงๆ เม็ดพระศกเทียบได้ดังหนามขนุน ส่วนความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัยเห็นได้จากพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระพักตร์วงรูปไข่ พระขนงโก่งโค้ง แม้มีไรพระศกเช่นพระพุทธรูปอู่ทอง แต่การหยักแหลมที่กึ่งกลางพระนลาฏล้อตามความโก่งโค้งของพระขนงและบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) ไม่หยักแหลม ย่อมสัมพันธ์กับแนวพระเกศาในพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายตัดตรง พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์มีความอ่อนช้อยกว่าพระพุธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานบัวที่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆรูปแบบสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ที่ช่วยในการกำหนดอายุและสะท้อนถึงเรื่องราวในอดีตได้ ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏและหยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) สิ่งเหล่านี้สิบต่อมาจากพระพุทธรูปศิลปะเขมรในประเทศไทย ถัดขึ้นไปมีพระเกศาเป็นตุ่มเล็กเปรียบได้กับหนามขนุน พระอุษณีษะทรงครึ่งวงกลม พระรัศมีเปลวไฟ สะท้อนถึงความแตกต่างไปจากศิลปะเขมรในประเทศไทย แต่อาจสัมพันธ์กับศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะการทำพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมใหญ่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์มีขนาดใหญ่และแลดูเทอะทะ

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยสุนทรียภาพที่แสดงถึงอายุสมัยว่าสร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรือระยะแรกสุด ได้แก่ ความสัมพันธ์กับศิลปะเขมรในประเทศไทย ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏ หยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) อย่างไรก็ตามพระพุทธรูปองค์นี้ทำพระอุษณีษะทรงครึ่งวงกลมและพระรัศมีรูปลูกแก้วหรือดอกบัวตูม ซึ่งแตกต่างไปจากพระพุทธรูปศิลปะเขมรในประเทศไทยทั่วไป ลักษณะนี้แสดงถึงการคลี่คลายหรือห่างไกลออกมาจากศิลปะเขมรในประเทศไทยแล้ว ซึ่งอาจช่วยกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ว่าสร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเล็กน้อย หรือสร้างขึ้นระยะแรกสุดของสมัยอยุธยาตอนต้น พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมใหญ่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงไม่ประดับลายสุนทรียภาพที่สัมพันธ์กับศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบบายนหรือหลังบายน ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏ หยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) พระอุษณีษะทรงกรวยแหลมรองรับด้วยแถวกลีบบัว พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง โดยเส้นชายจีวรที่พาดผ่านพระอุระขวาตวัดเป็นเส้นโค้งอาจสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียแบบปาละไม่มากก็น้อย ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์ แลดูใหญ่และเทอะทะ เป็นลักษณะหนึ่งของพระพุทธรูปยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา