ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

วัดเฉลิมพระเกียรติ

คำสำคัญ : วัดเฉลิมพระเกียรติ, วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี

ชื่อเรียกอื่นวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี
ชื่อหลักวัดเฉลิมพระเกียรติ
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลบางศรีเมือง
อำเภอเมือง
จังหวัดนนทบุรี
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.848337
Long : 100.484608
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 660443.74
N : 1531449.31
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระอัยกา พระอัยกี และเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดา การก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่ออิฐถือปูน

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระอุโบสถ พระวิหาร อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พระอุโบสถมีขนาดใหญ่กว่าพระวิหาร มีซุ้มใบเสมาอย่างเทศทั้ง 8 ทิศ ทั้งพระอุโบสถและพระวิหารมีรูปแบบอย่างพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ มีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมทึบไม่ประดับบัวหัวเสารองรับเครื่องหลังคาอยู่โดยรอบอาคาร และไม่มีคันทวย หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันปรากฏอิทธิพลแบบจีน โดยเป็นหน้าบันสามเหลี่ยมเรียบ ซ้อนชั้น ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีที่ประดิษฐ์เป็นลายดอกพุดตานก้านแย่งสลับใบ กรอบหน้าบันไม่ประดับเครื่องลำยอง จึงไม่ปรากฏช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แต่ทำเป็นรูปเศียรนาคแทน

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเฉลิมพระเกียรติขึ้นในบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระอัยกา (ตา) พระอัยกี (ยาย) และเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาของพระองค์ ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย โดยพระองค์ทรงเห็นว่าควรที่จะสถาปนาพระอารามแห่งนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแก่พระญาติวงศ์ฝ่ายพระราชมารดา

ในบริเวณนี้แต่เดิมเคยเป็นป้อมปราการเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อว่าป้อมทับทิม ใช้ในการสอดส่องป้องกันข้าศึกที่อาจจะรุกล้ำเข้ามาทางแม่น้ำ เมื่อมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัด จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองสร้างและโปรดให้สร้างป้อมปราการก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเป็นทำนองเดียวกันกับพระบรมมหาราชวังล้อมรอบวัดไว้เป็นอนุสรณ์ พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่าวัดเฉลิมพระเกียรติ ศิลปกรรมภายในวัดโดยส่วนใหญ่จึงปรากฏอิทธิพลศิลปะจีนซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ยกเว้นแต่เจดีย์ประธานของวัดซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 เนื่องจากได้ทรงสร้างวัดนี้ต่อมาจากที่ยังไม่แล้วเสร็จได้ทันในสมัยรัชกาลที่ 3

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24-25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-12-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ลำดวน สุขพันธุ์ (เรียบเรียง).ประวัติวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2521.

ปิยมาศ สุขพลับพลา.“การศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมพระอารามหลวงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว : กรณีศึกษาวัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546).