ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธมหาชนก

คำสำคัญ : พระพุทธมหาชนก, พระพุทธรูปประธานวัดปทุมคงคา, พระพุทธรูปทรงเครื่องต้น, วัดสำเพ็ง, วัดปทุมคงคา, วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

ชื่อเรียกอื่นพระพุทธรูปประธานวัดปทุมคงคา, พระพุทธรูปทรงเครื่องต้น
ชื่อหลักวัดปทุมคงคา
ชื่ออื่นวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร, วัดสำเพ็ง
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลสัมพันธวงศ์
อำเภอเขตสัมพันธวงศ์
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.736019
Long : 100.510774
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 663350.52
N : 1519043.88
ตำแหน่งงานศิลปะภายในพระอุโบสถ

ประวัติการสร้าง

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดสำเพ็งซึ่งเป็นวัดในสมัยอยุธยา เพื่อทรงอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานนามวัดว่า วัดปทุมคงคา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่เนื่องจากชำรุดทรุดโทรม และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรมเป็นนายช่างแก้ไขแบบพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถให้เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้น พร้อมกับแก้ไขฐานชุกชีให้สูงขึ้นและทำรูปเทวดาแวดล้อม 4 องค์

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธรูปประทับนั่งบนฐานชุกชี แสดงปางมารวิชัย ทรงครองจีวรลายดอกห่มเฉียง ประดับด้วยเครื่องทรงอื่นๆจำนวนมาก ได้แก่ มงกุฎยอดชัยหรือยอดแหลมซึ่งมีรูปแบบคล้ายเป็นการจำลองพระมหาพิชัยมงกุฎ โดยประกอบด้วยรัดเกล้า 3 ชั้นประดับดอกไม้ไหว และมีกรรเจียกจร ทรงสวมกรองศอ ทับทรวง พาหุรัด ธำมรงค์ ทองพระกร ทองพระบาท พระพักตร์สงบนิ่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโค้ง พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อยซึ่งเป็นรูปแบบพระพักตร์ของพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

วัดปทุมคงคาเป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วทรงอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ โดยโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรมเป็นนายช่างแก้ไขพระพุทธรูปประธานให้เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นครองจีวรลายดอกห่มเฉียง ประดับด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ต่างๆ ได้แก่ มงกุฎ กรองศอ ทับทรวง พาหุรัด ธำมรงค์ และได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ดังที่มีจารึกที่ชายผ้าทิพย์ว่า พระพุทธมหาชนก

การสร้างพระพุทธรูปประธานให้มีรูปแบบเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นมีตัวอย่างมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นพระพุทธรูปประธานวัดนางนองที่เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นโดยหมายถึงตอนทรมานพญามหาชมพู ซึ่งสอดคล้องกับจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถที่เขียนเรื่องดังกล่าว แต่ในกรณีของพระพุทธมหาชนกที่วัดปทุมคงคานั้นสันนิษฐานว่ารัชกาลที่ 4 น่าจะทรงแก้ไขแบบให้เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและให้สอดคล้องกับพระปณิธานของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้เพื่ออุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยพระราชประสงค์ดังกล่าวยังแสดงออกผ่านการพระราชทานนามพระพุทธรูปนี้ว่า “พระพุทธมหาชนก”ด้วย
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24-25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

สุริยา รัตนกุล และคณะ.พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร เล่ม 1. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550-2552.