ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 137 ถึง 144 จาก 169 รายการ, 22 หน้า
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีขนาดใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อยอยู่ในอิริยาบถทรงม้า ฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมพลทหารบก ทรงพระคทาจอมพลที่พระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมบังเหียน ม้าพระที่นั่งยืนบนแผ่นโลหะทองบรอนซ์หนาประมาณ 25 เซนติเมตรซึ่งวางอยู่บนแท่นหินอ่อนสี่เหลี่ยมสูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาวประมาณ 5 เมตรครึ่ง รอบแท่นมีเสาล้อมและขึงโซ่ไว้โดยรอบ ตรงฐานมีจารึกแสดงข้อความเฉลิมพระเกียรติที่ด้านหน้า มีชื่อช่างปั้น C.MASSON SEULP 1908 ช่างหล่อ G.Paupg Statuare ทางด้านขวา และบริษัทที่หล่อ SUSSF Fres FONDEURS. PARIS ทางด้านซ้าย

ตำหนักพรรณราย
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตำหนักพรรณราย

ตำหนักพรรณรายเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้นหลังคาจั่ว หน้าบันทรงสามเหลี่ยมมีปูนปั้นรูปวงกลม 3 วงซ้อนกัน ขอบหน้าบันส่วนที่ติดกับหลังคาทำปูนปั้นคล้ายแพรระบาย ตัวอาคารไม่มีชายคา เสารับหลังคามีทั้งแบบเสาสี่เหลี่ยมเรียบและเสากลมที่มีหัวเสาเป็นใบอะแคนธัสและฐานเสาแบบตะวันตก ระหว่างเสามีกันสาดโครงไม้ เหนือช่องหน้าต่างตกแต่งเท้าแขนไม้รูปวงกลม หน้าต่างเป็นแบบบานเกล็ด

ท้องพระโรง วังท่าพระ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมท้องพระโรง วังท่าพระ

ท้องพระโรงเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันด้านแป หรือด้านยาวออกหน้าวัง หลังคงทรงไทยชั้นเดียวมุงกระเบื้องไม่มีมุขลด เครื่องลำยองประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่มีนาคสะดุ้งหน้าบันแบบฝาปะกน มีบันไดใหญ่ทางด้านหน้า ลูกกรงกำแพงแก้วเป็นเหล็กหล่อลวดลายแบบสมัยวิคตอเรียน พื้นภายในเป็นไม้ มีเสาไม้กลมเซาะร่องมีฐานแบบตะวันตกเรียงรายตลอดความยาวของอาคาร ด้านหลังมีโถงทางเดินเชื่อมไปยังตำหนักกลาง

พระสมุทรเจดีย์
สมุทรปราการ
สถาปัตยกรรมพระสมุทรเจดีย์

พระสมุทรเจดีย์มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงที่มีช้างล้อม ถัดขึ้นไปเป็นฐานประทักษิณ 2 ฐาน ซึ่งมีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน จากนั้นเป็นชั้นฐานบัวคว่ำ บัวหงายที่ประดับบัวลูกแก้ว 2 เส้น ในผังกลม และประดับจระนำทั้งสี่ทิศที่ชั้นฐานนี้ จากนั้นจึงต่อด้วยชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายตามระเบียบของเจดีย์ทรงระฆังในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีชุดมาลัยเถา 3 ชั้น ชั้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชุด แทนตำแหน่งบัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนและเสาหาร ปล้องไฉนทรงกรวยและปลียอด ความสูงของพระสมุทรเจดีย์เป็นผลจากการที่องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีความสูง 2 ชั้น ซึ่งอยู่ในผังแปดเหลี่ยม มีบันไดทางขึ้น โดยฐานประทักษิณชั้นล่างเป็นฐานช้างล้อม การเพิ่มสัดส่วนความสูงด้วยชั้นฐานที่มากขึ้นนั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลจากการที่พระสมุทรเจดีย์นั้นเดิมตั้งในบริเวณที่เป็นเกาะกลางน้ำจึงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อให้เป็นจุดสังเกตที่สำคัญในการสัญจร

พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
ประจวบคีรีขันธ์
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์

พระที่นั่งตั้งอยู่บนเนินดินใจกลางถ้ำที่มีลักษะโปร่งแสงแดดส่องถึงพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นพระที่นั่งโถงแบบจัตุรมุข โดยมีมุขทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวกว่ามุขด้านตะวันตกและตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระหา หางหงส์

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

พระราชนิเวศน์มฤคทายวันประกอบด้วยพระที่นั่ง3องค์ที่มีทางเชื่อมต่อกันโดยตลอด ได้แก่ หมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน หมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระที่นั่งทั้งหมดสร้างด้วยไม้สักทอง ลักษณะเป็นอาคาร2ชั้น เปิดโล่งยกพื้นสูงชั้นล่างทำเป็นคอนกรีต หลังคาเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องว่าว มีบานเกล็ดระบายความร้อน ช่องหน้าต่าง แนวระเบียงและชายคาประดับด้วยไม้ฉลุลายแบบขนมปังขิง มีเสารองรับพระที่นั่งทั้งหมด1080 ต้น วางในแนวเดียวกัน เสาทุกต้นมีการหล่อขอบคอนกรีตที่ฐานและยกขอบเสาไม้ขึ้นไป มีรางน้ำที่ขอบฐานปูน เพื่อป้องกันมดและสัตว์อื่นๆซึ่งมีชุกชุม

พระรามราชนิเวศน์
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมพระรามราชนิเวศน์

พระรามราชนิเวศน์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นสไตล์ยุโรป ตัวอาคารมี 2 ชั้น หลังคามี 2 ยอดทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ ตัวอาคารมีผังเป็นตรีมุข แต่ละมุขมีบันไดทางขึ้นขนาดใหญ่เป็นทางขึ้นลง มุขด้านหน้าทางทิศตะวันออกถือเป็นจุดเด่นของอาคาร ประกอบด้วยวงกลมสามวงเรียงกันคล้ายรูปดอกจิก เรียกว่า ผังดอกจิกแบบโรมาเนสก์ (Rhenish Romanesque Trefoil Plan)โถงทางเข้าเป็นวงกลมขนาดใหญ่มีลักษณะโปร่งทะลุไปถึงเพดานชั้น 2 และเป็นที่ตั้งของบันไดใหญ่ของพระที่นั่ง ซึ่งเป็นการออกแบบในแนว จุงเกนสติล (Jugendstil) ที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ ด้านทิศเหนือมีอาคารรองก่อสร้างต่ออกไปโอบล้อมที่ว่างตรงกลาง มีบริเวณสวนหรือที่ว่างตรงกลางตกแต่งแบบสวนยุโรป (Court) ภานในพระที่นั่งตกแต่งโดยใช้ทองแดง กระจกสี กระเบื้องเคลือบสี เหล็กหล่อ ช่อไฟกิ่งซึ่งเน้นความหรูหราแบบยุโรป

พระปรางค์แดง
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมพระปรางค์แดง

องค์ประกอบของพระปรางค์แดงได้แก่ แผนผังอาคารที่มีลักษณะเป็นจตุรมุข และมีการทำหน้าบันซ้อนชั้นทั้ง 4 มุข หากแต่ที่พระปรางค์แดงได้ถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารจตุรมุขที่ทำหน้าบันซ้อนชั้นเลียนแบบเครื่องลำยองอย่างที่คุ้นเคยในสถาปัตยกรรมไทยองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทแบบเขมร คือ ส่วนยอดที่มีปริมาตรค่อนข้างอวบอ้วน โดยยังคงใช้ระเบียบของเรือนซ้อนชั้นซึ่งมีทั้งหมด 5 ชั้น ลักษณะสอบขึ้นไปสู่ส่วนยอดบนสุด ใช้ระบบการย่อมุมที่มุมประธานทั้ง 4 ของส่วนยอด กึ่งกลางของชั้นซ้อนแต่ละชั้นทำเป็นช่องวิมานซึ่งมีเสาและกรอบซุ้มวางทับ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงจึงเป็นระเบียบที่คล้ายกับการทำส่วนยอดที่เป็นชั้นซ้อนของปราสาทแบบเขมร ซึ่งเป็นการจำลองส่วนของเรือนธาตุให้มีขนาดเล็กลงและซ้อนชั้นกันตามคติความเชื่อเรื่องปราสาทอันเป็นอาคารฐานันดรสูง แตกต่างกันที่รายละเอียดของการประดับตกแต่งชั้นซ้อนเท่านั้นข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงไม่ได้ประดับประติมากรรมอันได้แก่บรรพแถลงหรือกลีบขนุนที่บริเวณชั้นซ้อนตามแบบที่ปราสาทแบบเขมรนิยมทำ มีแต่เพียงโครงสร้างของการทำเรือนซ้อนชั้นและช่องวิมานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปแบบของพระปรางค์แดงจะมีความสัมพันธ์กับปราสาทแบบเขมรดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่ก็พบว่าเทคนิคการก่อสร้างบางประการนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลตะวันตกซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในงานศิลปกรรมในพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4 สังเกตได้จากการใช้ผนังวงโค้งช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างที่พบในสถาปัตยกรรมตะวันตก การทำช่องวิมานที่ชั้นซ้อนของส่วนยอดซึ่งมีซุ้มเป็นวงโค้งอย่างตะวันตก รวมทั้งการก่อส่วนยอดซึ่งแท้ที่จริงเป็นการก่ออิฐฉาบปูน ภายในมีลักษณะโปร่งสามารถมองทะลุถึงส่วนยอดได้ ในขณะที่ภายนอกเป็นการก่ออิฐและฉาบปูนให้แลดูเสมือนว่าเป็นการซ้อนชั้นหลังคาเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมรเท่านั้น ซึ่งคงทำให้ส่วนยอดมีน้ำหนักเบาแม้ว่าจะมีปริมาตรมาก แตกต่างจากการก่อส่วนยอดด้วยหินอย่างปราสาทแบบเขมร