ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระปรางค์แดง
คำสำคัญ : ปรางค์, วัดพระแก้วน้อย, พระนครคีรี, เขาวัง, พระปรางค์แดง
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | พระนครคีรี |
ชื่ออื่น | เขาวัง |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ท่าราบ |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | เพชรบุรี |
ภาค | ภาคตะวันตก |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.108448 Long : 99.939346 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 601823.67 N : 1449318.02 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ยอดเขาทิศตะวันออก |
ประวัติการสร้าง | สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมกับการสร้างพระนครคีรี |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 78 ตอน 52 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | องค์ประกอบของพระปรางค์แดงได้แก่ แผนผังอาคารที่มีลักษณะเป็นจตุรมุข และมีการทำหน้าบันซ้อนชั้นทั้ง 4 มุข หากแต่ที่พระปรางค์แดงได้ถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารจตุรมุขที่ทำหน้าบันซ้อนชั้นเลียนแบบเครื่องลำยองอย่างที่คุ้นเคยในสถาปัตยกรรมไทย องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทแบบเขมร คือ ส่วนยอดที่มีปริมาตรค่อนข้างอวบอ้วน โดยยังคงใช้ระเบียบของเรือนซ้อนชั้นซึ่งมีทั้งหมด 5 ชั้น ลักษณะสอบขึ้นไปสู่ส่วนยอดบนสุด ใช้ระบบการย่อมุมที่มุมประธานทั้ง 4 ของส่วนยอด กึ่งกลางของชั้นซ้อนแต่ละชั้นทำเป็นช่องวิมานซึ่งมีเสาและกรอบซุ้มวางทับ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงจึงเป็นระเบียบที่คล้ายกับการทำส่วนยอดที่เป็นชั้นซ้อนของปราสาทแบบเขมร ซึ่งเป็นการจำลองส่วนของเรือนธาตุให้มีขนาดเล็กลงและซ้อนชั้นกันตามคติความเชื่อเรื่องปราสาทอันเป็นอาคารฐานันดรสูง แตกต่างกันที่รายละเอียดของการประดับตกแต่งชั้นซ้อนเท่านั้น ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงไม่ได้ประดับประติมากรรมอันได้แก่บรรพแถลงหรือกลีบขนุนที่บริเวณชั้นซ้อนตามแบบที่ปราสาทแบบเขมรนิยมทำ มีแต่เพียงโครงสร้างของการทำเรือนซ้อนชั้นและช่องวิมานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปแบบของพระปรางค์แดงจะมีความสัมพันธ์กับปราสาทแบบเขมรดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่ก็พบว่าเทคนิคการก่อสร้างบางประการนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลตะวันตกซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในงานศิลปกรรมในพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4 สังเกตได้จากการใช้ผนังวงโค้งช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างที่พบในสถาปัตยกรรมตะวันตก การทำช่องวิมานที่ชั้นซ้อนของส่วนยอดซึ่งมีซุ้มเป็นวงโค้งอย่างตะวันตก รวมทั้งการก่อส่วนยอดซึ่งแท้ที่จริงเป็นการก่ออิฐฉาบปูน ภายในมีลักษณะโปร่งสามารถมองทะลุถึงส่วนยอดได้ ในขณะที่ภายนอกเป็นการก่ออิฐและฉาบปูนให้แลดูเสมือนว่าเป็นการซ้อนชั้นหลังคาเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมรเท่านั้น ซึ่งคงทำให้ส่วนยอดมีน้ำหนักเบาแม้ว่าจะมีปริมาตรมาก แตกต่างจากการก่อส่วนยอดด้วยหินอย่างปราสาทแบบเขมร |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระปรางค์แดงตั้งอยู่แนวแกนหลักภายในเขตวัดพระแก้วน้อย ตรงข้ามกับพระอุโบสถและพระสุทธเสลเจดีย์ พระปรางค์แดงมีรูปแบบคล้ายปราสาทเขมร รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่สร้างพระนครคีรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสเริ่มรุกรานอำนาจอธิปไตยของสยามและเขมรในช่วงเวลานั้นเขมรยังเป็นประเทศราชของสยาม รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อปราสาทไผทตาพรหมซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงปราสาทตาพรหมเพื่อมาก่อสร้างไว้ในเขตสยาม แต่การรื้อปราสาทครั้งนั้นมิอาจสำเร็จได้ตามพระราชประสงค์ ภายหลังจึงได้โปรดเกล้าฯสร้างปราสาทหลังนี้โดยมีรูปแบบคล้ายกับปราสาทเขมรไว้ที่พระนครคีรี ภายในพระปรางค์แดงเป็นที่ประดิษฐานพระไพรีพินาศจำลอง |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ประเพณีในราชสำนัก |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | รูปแบบที่อาจได้แรงบันดาลใจจากปราสาทตาพรหม ศิลปะเขมรสมัยบายนในพุทธศตวรรษที่ 18 |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-05-28 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ศิลปากร, กรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542. ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. เบญจวรรณทัศนลีลพร. การออกแบบพระนครคีรี (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), 2543. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรมกับงานช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “ศิลปกรรมแบบเขมรในพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2557), หน้า 65-83. |