ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระปรางค์แดง
องค์ประกอบของพระปรางค์แดงได้แก่ แผนผังอาคารที่มีลักษณะเป็นจตุรมุข และมีการทำหน้าบันซ้อนชั้นทั้ง 4 มุข หากแต่ที่พระปรางค์แดงได้ถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารจตุรมุขที่ทำหน้าบันซ้อนชั้นเลียนแบบเครื่องลำยองอย่างที่คุ้นเคยในสถาปัตยกรรมไทยองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทแบบเขมร คือ ส่วนยอดที่มีปริมาตรค่อนข้างอวบอ้วน โดยยังคงใช้ระเบียบของเรือนซ้อนชั้นซึ่งมีทั้งหมด 5 ชั้น ลักษณะสอบขึ้นไปสู่ส่วนยอดบนสุด ใช้ระบบการย่อมุมที่มุมประธานทั้ง 4 ของส่วนยอด กึ่งกลางของชั้นซ้อนแต่ละชั้นทำเป็นช่องวิมานซึ่งมีเสาและกรอบซุ้มวางทับ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงจึงเป็นระเบียบที่คล้ายกับการทำส่วนยอดที่เป็นชั้นซ้อนของปราสาทแบบเขมร ซึ่งเป็นการจำลองส่วนของเรือนธาตุให้มีขนาดเล็กลงและซ้อนชั้นกันตามคติความเชื่อเรื่องปราสาทอันเป็นอาคารฐานันดรสูง แตกต่างกันที่รายละเอียดของการประดับตกแต่งชั้นซ้อนเท่านั้นข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงไม่ได้ประดับประติมากรรมอันได้แก่บรรพแถลงหรือกลีบขนุนที่บริเวณชั้นซ้อนตามแบบที่ปราสาทแบบเขมรนิยมทำ มีแต่เพียงโครงสร้างของการทำเรือนซ้อนชั้นและช่องวิมานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปแบบของพระปรางค์แดงจะมีความสัมพันธ์กับปราสาทแบบเขมรดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่ก็พบว่าเทคนิคการก่อสร้างบางประการนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลตะวันตกซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในงานศิลปกรรมในพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4 สังเกตได้จากการใช้ผนังวงโค้งช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างที่พบในสถาปัตยกรรมตะวันตก การทำช่องวิมานที่ชั้นซ้อนของส่วนยอดซึ่งมีซุ้มเป็นวงโค้งอย่างตะวันตก รวมทั้งการก่อส่วนยอดซึ่งแท้ที่จริงเป็นการก่ออิฐฉาบปูน ภายในมีลักษณะโปร่งสามารถมองทะลุถึงส่วนยอดได้ ในขณะที่ภายนอกเป็นการก่ออิฐและฉาบปูนให้แลดูเสมือนว่าเป็นการซ้อนชั้นหลังคาเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมรเท่านั้น ซึ่งคงทำให้ส่วนยอดมีน้ำหนักเบาแม้ว่าจะมีปริมาตรมาก แตกต่างจากการก่อส่วนยอดด้วยหินอย่างปราสาทแบบเขมร