ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 73 ถึง 80 จาก 169 รายการ, 22 หน้า
พระโกศทองใหญ่
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระโกศทองใหญ่

พระโกศทองใหญ่มีลักษณะคล้ายภาชนะ ส่วนฐานทรงแปดเหลี่ยมรองรับส่วนกลางทรงแปดเหลี่ยมที่มีเอวคอด ปากผาย ประดับดอกไม้เอวที่ขอบล่าง และประดับเฟื่องกับพู่เงินที่ขอบบน ภายนอกสลักลวดลายกลีบบัว ส่วนบนหรือฝาพระโกศซ้อนชั้นลดหลั่นประดับดอกไม้ไหว ส่วนปลายเรียวแหลมประดับดอกไม้เพชรพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ยอดบนสุด

จิตรกรรมเรื่องชมพูบดี
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องชมพูบดี

จิตรกรรมมีสภาพค่อนข้างลบเลือน ผนังด้านตรงข้ามพระประธานเขียนตอนพระอินทร์จำแลงกายมาเป็นทูตเชิญเสด็จพระเจ้าชมพูบดีไปยังเวฬุวัน ผนังด้านทิศเหนือเขียนตอนกระบวนเสด็จของพระเจ้าชมพูบดี ผนังด้านหลังพระประธานเขียนตอนพระเจ้าชมพูบดีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผนังด้านทิศใต้เขียนตอนกระบวนเสด็จของกาญจนราชเทวีพระมเหสี จิตรกรรมฝาผนังมีรูปแบบและเทคนิคอย่างจิตรกรรมไทยประเพณีในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยตัวละครแสดงกิริยาอย่างนาฏลักษณ์ พื้นหลังฉากปราสาทใช้สีแดงชาด คั่นฉากเหตุการณ์สำคัญด้วยกำแพงเมือง แนวพุ่มไม้ หรือโขดหิน ภาพปราสาทราชวังยังคงเป็นแบบไทยประเพณี ในขณะที่ภาพอาคารบ้านเรือนมีการจำลองภาพอาคารตามสมัยนิยม

ลายรดน้ำเครื่องราชูปโภค
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมลายรดน้ำเครื่องราชูปโภค

จิตรกรรมลายรดน้ำที่บานแผละประตูและหน้าต่างภายในพระอุโบสถวัดนางนองมีทั้งหมด 28 ภาพ เขียนภาพเครื่องราชูปโภค เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องยศ เครื่องสิริมงคล เครื่องศัตราวุธ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆ โดยมีภาพเครื่องสูง ได้แก่ ฉัตร บังสูรย์ บังแทรก ประกอบอยู่เบื้องหลัง ลวดลายทั้งหมดปิดทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำ

พระพุทธมหาจักรพรรดิ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธมหาจักรพรรดิ

พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย พระวรกายเพรียว พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็ก พระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยจนเกือบเป็นเส้นตรง พระพักตร์คล้ายหุ่น อันเป็นรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปในรัชกาลที่ 3 ทรงเครื่องประดับต่างๆ ได้แก่ พระมหามงกุฎ กรองศอ สังวาล พาหุรัด ทองพระกร ทองพระบาท

โพธิฆระ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมโพธิฆระ

รูปแบบของบริเวณที่ประดิษฐานต้นโพธิ์บางแห่งพบว่ามีการทำฐานโพธิ์ล้อมรอบโคนต้น มีลักษณะเป็นฐานสิงห์ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีพนักกำแพงโดยรอบทำด้วยกระเบื้องปรุแบบจีน และมีบันไดทางขึ้นโดยอาจมีเพียงด้านเดียวหรือทั้ง 4 ด้าน มีบางแห่งที่มีอาคารล้อมรอบต้นโพธิ์ที่เรียกว่าโพธิฆระ เช่นที่วัดปทุมวนาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร โพธิฆระมีแผนผังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลังคาคลุมและมีพนักกำแพงบนสันหลังคาโดยเว้นพื้นที่ตรงกลางเพื่อให้ต้นโพธิ์ได้เจริญเติบโต

จิตรกรรมเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ผนังภายในรอบพระอุโบสถเหนือช่องหน้าต่าง เขียนภาพสวนสวรรค์ทั้ง 4 แห่ง บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สวนแต่ละแห่งมีองค์ประกอบคล้ายกัน โดยภาพเทวดานางฟ้าที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างตัวละครเอกในงานจิตรกรรมประเพณี มีภาพสถาปัตยกรรมทรงปราสาทที่คล้ายกับพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เบื้องหลังเต็มไปด้วยแมกไม้และท้องฟ้าที่มีภาพเทวดาและนางฟ้าเหาะอยู่ท่ามกลางก้อนเมฆ ด้านหน้าของฉากพระมหาปราสาทเป็นภาพสระบัวขนาดใหญ่ที่มีเรืออยู่กลางสระ มีลักษณะคล้ายเรือพระที่นั่ง ฉากด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องช้างเอราวัณที่เชื่อกันว่าแต่ละงามีสระบัว 7 สระ แต่ละสระมีดอกบัว 7 ดอก แต่ละดอกมีกลีบ 7 กลีบ และมีเทพธิดาสถิต 7 องค์

พระอุโบสถวัดทองนพคุณ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดทองนพคุณ

พระอุโบสถเป็นอาคารทรงไทยประเพณี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อนชั้นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง สันนิษฐานว่าเป็นงานในรุ่นหลังรัชกาลที่ 3 เนื่องจากมีการประดับตกแต่งที่ใช้รูปสัญลักษณ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 หน้าบันพระอุโบสถซ้อน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นรูปพานประดิษฐานพระไตรปิฎก ขนาบด้วยเชิงเทียน ชั้นล่างเป็นช่องประดับปริมากรรมรูปเทพนม โดยน่าจะมีความสอดคล้องกับภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถที่เขียนภาพคัมภีร์พระไตรปิฎก ช่องประตูทางเข้าพระอุโบสถมี 3 ช่อง ซุ้มประตูช่องกลางเป็นรูปมงกุฎ อีก 2 ช่อง เป็นซุ้มยอดทรงปราสาท ซุ้มหน้าต่างช่องกลางเป็นรูปมงกุฎ อีก2ซุ้มที่ขนาบข้างเป็นรูปพัดยศ

พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากร
นนทบุรี
ประติมากรรมพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากร

พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากรมีรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง กล่าวคือ พระวรกายเพรียวบาง พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็ก พระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยจนเกือบเป็นเส้นตรง พระพักตร์คล้ายหุ่น ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะรองรับพระรัศมีเปลว ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว