ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมพระบฏวัดดอกเงิน
พระบฏผืนนี้เขียนเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่เมืองสังกัสสะ สีที่ใช้มีหลายสี เช่น สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดง สีขาว สีดินเหลืองและสีดำ ปิดทองเฉพาะองค์พระพุทธเจ้า ภาพแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงบนสุดเป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แสดงภาพเทวดาประคองอัญชลี มีต้นปาริชาติ เจดีย์จุฬามณี และวิมาน 2 หลังคือเวชยันต์ปราสาทและสุธรรมเทวสภา ชั้นที่สองเป็นภาพพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่อิริยาบถลีลาลงจากบันไดแก้ว มีพระอาทิตย์และพระจันทร์ขนาบสองข้างพระเศียร ด้านซ้ายแสดงภาพเทวดาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เสด็จลงบันไดเงิน ด้านขวาแสดงภาพพรหมเสด็จลงบันไดทอง ขอบทั้งสองด้านแสดงภาพเทวดาชั้นรองถือเครื่องสักการะเหาะตามมา ชั้นที่สามแสดงภาพเมืองสังกัสสะ ฝั่งขวาคือแถวพระสงฆ์ ฝั่งซ้ายคือกลุ่มกษัตริย์ยืนรอรับเสด็จ และยังมีภาพบุคคลอื่นๆ เช่น พราหมณ์ ขุนนางประคองอัญชลีและมีภาพปราสาท ด้านล่างสุดเป็นภาพน้ำ มีมนุษยนาคประคองอัญชลี ฉากหลังเป็นดอกมณฑารพ มีจารึกอักษรฝักขามตามตำแหน่งต่างๆ
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังในวิหารน้ำแต้ม
ลักษณะในการเขียนจิตรกรรมในวิหารน้ำแต้มใช้สีพหุรงค์ประด้วยสีแดง สีเขียวเหลือง สีดำและขาว ตัวบุคคลชั้นสูงแต่งกายแบบพม่า ชาวบ้านแต่งกายแบบพื้นเมืองล้านนาและพม่า ภาพทิวทัศน์แสดงแนวเส้นเลื่อนไหล มีเส้นแบ่งภาพเป็นเส้นโค้ง มีจารึกบอกเรื่องราวเป็นอักษรธรรมล้านนา เรื่องราวที่เขียนเป็นเรื่องมาฆมาณพหรือประวัติพระอินทร์ และเรื่องสามาวดีซึ่งเป็นเรื่องราวในอรรถกถาบาลี มีการเขียนภาพไตรภูมิ ซึ่งแสดงเป็นแท่งเสา ตรงกลางเป็นวิมานของพระอินทร์ในสุทัศนนครบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรอยู่รอบๆ
ประติมากรรมพระเจ้าแข้งคม
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเนตรเปิดมองตรง พระโอษฐ์หนา ขอบพระโอษฐ์ซ้อนกันสองเส้น มีไรพระศก ขมวดพระเกศาขนาดเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภีปลายเป็นริ้วซ้อนกัน พระหัตถ์ขวาวางที่กึ่งกลางพระชงฆ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวไม่เสมอกัน พระอังคุฐแยกห่างจากนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 แข้งคม
ประติมากรรมพระเจ้าเก้าตื้อ
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก อุษณีษะทรงสูง รัศมีเป็นเปลวไฟค่อนข้างสูง พระเนตรหรี่เหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายสมส่วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง
ประติมากรรมพระเจ้าล้านทอง
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ กรอบพระพักตร์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระนลาฏแคบ พระโอษฐ์เล็กมีร่องด้านข้าง พระวรกายบอบบาง สังฆาฏิแผ่นใหญ่ปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบประทับนั่งบนฐานบัหงายมีกลีบขนาดใหญ่และเกสรบัว ประดิษฐานภายในกู่ปราสาท
ประติมากรรมกู่พระเจ้าล้านทอง
กู่พระเจ้าล้านทองมีส่วนฐานที่ประกอบด้วยฐานเขียงรองรับฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังยกเก็จโดยไม่มีลูกแก้วอกไก่ประดับที่ท้องไม้ ส่วนฐานที่เพิ่มเข้ามาผระดับลวดลายปูนปั้นลายเครือล้านนา คือลายดอกไม้ใบไม้ และมีรูปสัตว์แทรก มีลูกแก้วมารองรับฐานบัว เรือนธาตุเป็นห้องสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมด้านละ 3 มุม มีการยกเก็จเป็นเสาซุ้มอยู่ 2 มุม แต่ละมุมประดับลายกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก เรือนธาตุมีฐานบัวเชิงเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ที่ด้านล่างและบัวรัดเกล้าที่ด้านบน ภายในประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง เจาะช่องเฉพาะด้านหน้า ด้านอื่นประดับรูปเทวดาเป็นลายเส้นในซุ้มจระนำ เรือนชั้นซ้อนมีการผสมผสานกันระหว่างแบบเรือนชั้นซ้อนและแบบหลังคาลาด ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะล้านนา แสดงตัวเรือนที่มีฐานบัวคว่ำบัวหงายลูกแก้วอกไก่รองรับเรือนธาตุที่มีช่องจระนำประดับซุ้มบรรพแถลง กรอบสามเหลี่ยมคล้ายกลีบขนุนและเสาหัวเม็ดขนาดเล็ก หลังคาเอนมีการประดับสันหลังคาด้วยมังกรหรือปัญจรูป ส่วนยอดเป็นทรงพุ่มคล้ายดอกบัวในผังยกเก็จปลายเป็นรูปกลีบบัวต่อด้วยลูกแก้วเป็นวงซ้อนกันและยอดสุดเป็นปลี
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง
ซุ้มประตูโขงก่อด้วยอิฐฉาบปูน ช่องทางเข้ามีลักษณะเป็นวงโค้ง ตัวอาคารอยู่ในผังยกเก็จ ส่วนยอดของโขงประกอบด้วยชุดหลังคาลาดซ้อนชั้นลดหลั่นกันในผังยกเก็จ ประดับลวดลายปูนปั้นรูปนาคที่หน้าบัน ประดับมุมอาคารด้วยลวดลายปูนปั้นที่เรียกว่า ลายเครือล้านนา ในตำแหน่งกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายลายฉลุโปร่ง ตัวลายประกอบด้วยลายคดโค้ง มีลายดอกโบตั๋นประกอบด้วยก้านใบ ลวดลายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากเครื่องถ้วยจีนและเป็นที่นิยมในการประดับสถาปัตยกรรมในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21