ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 361 ถึง 368 จาก 438 รายการ, 55 หน้า
พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
ประจวบคีรีขันธ์
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์

พระที่นั่งตั้งอยู่บนเนินดินใจกลางถ้ำที่มีลักษะโปร่งแสงแดดส่องถึงพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นพระที่นั่งโถงแบบจัตุรมุข โดยมีมุขทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวกว่ามุขด้านตะวันตกและตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระหา หางหงส์

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

พระราชนิเวศน์มฤคทายวันประกอบด้วยพระที่นั่ง3องค์ที่มีทางเชื่อมต่อกันโดยตลอด ได้แก่ หมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน หมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระที่นั่งทั้งหมดสร้างด้วยไม้สักทอง ลักษณะเป็นอาคาร2ชั้น เปิดโล่งยกพื้นสูงชั้นล่างทำเป็นคอนกรีต หลังคาเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องว่าว มีบานเกล็ดระบายความร้อน ช่องหน้าต่าง แนวระเบียงและชายคาประดับด้วยไม้ฉลุลายแบบขนมปังขิง มีเสารองรับพระที่นั่งทั้งหมด1080 ต้น วางในแนวเดียวกัน เสาทุกต้นมีการหล่อขอบคอนกรีตที่ฐานและยกขอบเสาไม้ขึ้นไป มีรางน้ำที่ขอบฐานปูน เพื่อป้องกันมดและสัตว์อื่นๆซึ่งมีชุกชุม

พระรามราชนิเวศน์
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมพระรามราชนิเวศน์

พระรามราชนิเวศน์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นสไตล์ยุโรป ตัวอาคารมี 2 ชั้น หลังคามี 2 ยอดทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ ตัวอาคารมีผังเป็นตรีมุข แต่ละมุขมีบันไดทางขึ้นขนาดใหญ่เป็นทางขึ้นลง มุขด้านหน้าทางทิศตะวันออกถือเป็นจุดเด่นของอาคาร ประกอบด้วยวงกลมสามวงเรียงกันคล้ายรูปดอกจิก เรียกว่า ผังดอกจิกแบบโรมาเนสก์ (Rhenish Romanesque Trefoil Plan)โถงทางเข้าเป็นวงกลมขนาดใหญ่มีลักษณะโปร่งทะลุไปถึงเพดานชั้น 2 และเป็นที่ตั้งของบันไดใหญ่ของพระที่นั่ง ซึ่งเป็นการออกแบบในแนว จุงเกนสติล (Jugendstil) ที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ ด้านทิศเหนือมีอาคารรองก่อสร้างต่ออกไปโอบล้อมที่ว่างตรงกลาง มีบริเวณสวนหรือที่ว่างตรงกลางตกแต่งแบบสวนยุโรป (Court) ภานในพระที่นั่งตกแต่งโดยใช้ทองแดง กระจกสี กระเบื้องเคลือบสี เหล็กหล่อ ช่อไฟกิ่งซึ่งเน้นความหรูหราแบบยุโรป

พระปรางค์แดง
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมพระปรางค์แดง

องค์ประกอบของพระปรางค์แดงได้แก่ แผนผังอาคารที่มีลักษณะเป็นจตุรมุข และมีการทำหน้าบันซ้อนชั้นทั้ง 4 มุข หากแต่ที่พระปรางค์แดงได้ถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารจตุรมุขที่ทำหน้าบันซ้อนชั้นเลียนแบบเครื่องลำยองอย่างที่คุ้นเคยในสถาปัตยกรรมไทยองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทแบบเขมร คือ ส่วนยอดที่มีปริมาตรค่อนข้างอวบอ้วน โดยยังคงใช้ระเบียบของเรือนซ้อนชั้นซึ่งมีทั้งหมด 5 ชั้น ลักษณะสอบขึ้นไปสู่ส่วนยอดบนสุด ใช้ระบบการย่อมุมที่มุมประธานทั้ง 4 ของส่วนยอด กึ่งกลางของชั้นซ้อนแต่ละชั้นทำเป็นช่องวิมานซึ่งมีเสาและกรอบซุ้มวางทับ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงจึงเป็นระเบียบที่คล้ายกับการทำส่วนยอดที่เป็นชั้นซ้อนของปราสาทแบบเขมร ซึ่งเป็นการจำลองส่วนของเรือนธาตุให้มีขนาดเล็กลงและซ้อนชั้นกันตามคติความเชื่อเรื่องปราสาทอันเป็นอาคารฐานันดรสูง แตกต่างกันที่รายละเอียดของการประดับตกแต่งชั้นซ้อนเท่านั้นข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงไม่ได้ประดับประติมากรรมอันได้แก่บรรพแถลงหรือกลีบขนุนที่บริเวณชั้นซ้อนตามแบบที่ปราสาทแบบเขมรนิยมทำ มีแต่เพียงโครงสร้างของการทำเรือนซ้อนชั้นและช่องวิมานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปแบบของพระปรางค์แดงจะมีความสัมพันธ์กับปราสาทแบบเขมรดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่ก็พบว่าเทคนิคการก่อสร้างบางประการนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลตะวันตกซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในงานศิลปกรรมในพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4 สังเกตได้จากการใช้ผนังวงโค้งช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างที่พบในสถาปัตยกรรมตะวันตก การทำช่องวิมานที่ชั้นซ้อนของส่วนยอดซึ่งมีซุ้มเป็นวงโค้งอย่างตะวันตก รวมทั้งการก่อส่วนยอดซึ่งแท้ที่จริงเป็นการก่ออิฐฉาบปูน ภายในมีลักษณะโปร่งสามารถมองทะลุถึงส่วนยอดได้ ในขณะที่ภายนอกเป็นการก่ออิฐและฉาบปูนให้แลดูเสมือนว่าเป็นการซ้อนชั้นหลังคาเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมรเท่านั้น ซึ่งคงทำให้ส่วนยอดมีน้ำหนักเบาแม้ว่าจะมีปริมาตรมาก แตกต่างจากการก่อส่วนยอดด้วยหินอย่างปราสาทแบบเขมร

หอชัชวาลเวียงชัย
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมหอชัชวาลเวียงชัย

หอชัชวาลเวียงชัยมีรูปแบบและแผนผังอาคารอย่างตะวันตก โดยสร้างขึ้นเลียนแบบอาคารแบบคลาสสิคในผังกลมซึ่งเป็นที่นิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สร้างเป็นอาคารสูง 2 ชั้น ในผังกลม มีเสากลม 8 ต้นและผนังวงโค้งแบบอาร์เขต (Arcade) ช่วยรับน้ำหนัก และมีบันไดเวียนที่กลางอาคารไปสู่ชั้นบนที่มีระเบียงล้อมรอบ ราวบันไดทำด้วยเหล็กเส้นกลม ด้านบนสุดเป็นโดมขนาดใหญ่ กรุด้วยกระจกใสเรียงซ้อนกันในกรอบเหล็กเส้น เหนือยอดโดมเป็นซุ้มขนาดเล็กก่ออิฐฉาบปูนวางคานรูปวงแหวนและมีการคำยันยึดกับผนังห้องกลมด้วยเหล็กเส้นแบนในแนวทแยง 4 ทิศ เป็นที่สำหรับแขวนกระโจมไฟ

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

มีรูปแบบเป็นปราสาททรงจัตุรมุข ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับลวดลายปูนปั้นที่บริเวณหน้าบัน บัวหัวเสา และกาบพรหมศร ส่วนยอดเป็นปรางค์มีทั้งหมด 5 ยอด โดยประดับอยู่ที่กลางสันหลังคามุขทั้ง 4 และยอดประธานซึ่งมีความสูงที่สุด ทุกยอดประดับนภศูล ภายในพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทมีขนาดไม่กว้างใหญ่มากนัก ใช้เทคนิคการก่ออิฐแนวผนังและเพดานโดยก่อเป็นวงโค้งปลายแหลม ซึ่งช่องวงโค้งค่อนข้างแคบจึงช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาที่มีถึง 5 ยอดได้เป็นอย่างดี

วัดพระแก้วน้อย
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมวัดพระแก้วน้อย

สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดพระแก้วน้อย ได้แก่ พระอุโบสถ และพระสุทธเสลเจดีย์ ส่วนพระอุโบสถเป็นอาคารก่อด้วยหินอ่อนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาประดับกระเบื้องซ้อนชั้น เครื่องลำยองประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ขนาบสองข้างด้วยฉัตร 5 ชั้น พื้นหลังเป็นลายก้านขด ซึ่งเป็นฝีมือช่างเพชรบุรี ผนังพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมลายพรรณพฤกษา ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกประดับลวดลายปูนปั้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระนิรัยตรายจำลองและพระแก้วมรกตจำลองส่วนพระสุทธเสลเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถโดยมีทางเชื่อมต่อขึ้นไปยังฐานประทักษิณรอบองค์เจดีย์ องค์เจดีย์ก่อด้วยหินอ่อนที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดมาจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เรียงต่อกันตามแบบของเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นพระราชนิยม ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระเจดีย์ด้วย

พระประโทณเจดีย์
นครปฐม
สถาปัตยกรรมพระประโทณเจดีย์

พระประโทณเจดีย์เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ฐานซ้อนชั้นซึ่งสร้างขึ้นแต่ครั้งทวารวดี และปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ด้านบนสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และซ่อมแซมครั้งใหญ่หรือสร้างใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ฐานซ้อนชั้นมีแผนผังด้านล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นที่ด้านทั้งสี่ ถัดขึ้นมาเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมรวม 3 เก็จ องค์ประกอบสำคัญของฐานนี้ คือ บัววลัย และผนังที่ตกแต่งด้วยเสาเป็นระยะ ทำให้พื้นที่ระหว่างเสากลายเป็นช่องสี่เหลี่ยม เสาหรือช่องสี่เหลี่ยมนี้ซ้อนกัน 2 ชั้น โดยชั้นล่างใหญ่กว่าชั้นบน ถัดขึ้นไปเป็นฐานอีกชั้นหนึ่งซึ่งองค์ประกอบหลักไม่ต่างไปจากฐานด้านล่างนัก ยกเว้นทำยกเก็จ 2 ชั้น ฐานชั้นสุดท้ายซึ่งเดิมทีอาจเป็นส่วนเรือนธาตุประดับด้วยซุ้มจระนำเรียงรายโดยรอบ สำหรับปรางค์ที่อยู่ด้านบนสุดมีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนชั้นกันต่อด้วยเรือนธาตุเพิ่มมุม ยอดมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกตั้งตรงขึ้นไป