ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 65 ถึง 72 จาก 383 รายการ, 48 หน้า
หลักเมืองกรุงเทพฯ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมหลักเมืองกรุงเทพฯ

เสาหลักเมืองที่สร้างในรัชกาลที่ 1 เป็นเสาทรงกระบอกสอบขึ้น ส่วนโคนเสามีขนาดใหญ่กว่าส่วนปลายยอดเสาเป็นรูปดอกบัวตูม เสาทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ฐานเสาเป็นรูปกลีบบัว ลงรักปิดทองคำเปลวโดยตลอด เสาหลักเมืองที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ปิดทองทึบทั้งต้น ยอดเสาเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทองประดับกระจก ฐานเสาทำด้วยไม้สัก เป็นรูปกลีบบัวฐานสิงห์หกเหลี่ยมปิดทองประดับกระจก

พระนิรันตราย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระนิรันตราย

พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียบขนาดใหญ่อย่างเหมือนจริงทับจีวรที่มีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใบพระกรรณที่หดสั้นลง ที่สำคัญคือไม่มีอุษณีษะ แต่ยังคงทำรัศมีเปลว ขมวดพระเกศา และมีอุณาโลมตามลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ มีรูปศีรษะโคที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายถึงโคตมะ รอบองค์พระพุทธรูปประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วประกอบกับซุ้มไม้โพธิ์ซึ่งมีคาถาพระพุทธคุณหรือบทอิติปิโส ซึ่งเป็นคาถาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4

พระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส
เพชรบุรี
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส

พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสังขรณ์ตามเค้าโครงของพระพุทธรูปเดิมที่อาจเป็นฝีมือช่างในท้องถิ่น พระวรกายอวบอ้วนขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ แนวพระขนงโก่งต่อเนื่องกับพระนาสิกแหลม พระหนุและพระศอสั้น มีพระรัศมีเปลวค่อนข้างสั้น มีอุษณีษะ เม็ดพระศกเล็กคล้ายหนามขนุน พระกรรณยาวใหญ่ พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง ประทับนั่งบนแท่นฐานปูน เบื้องหลังมีเสาที่ตกแต่งบัวหัวเสาด้วยลายใบผักกาดแบบตะวันตก รองรับซุ้มปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปลำตัวนาคหยักโค้ง ปลายซุ้มเป็นรูปนาคหันหัวเข้า ยอดกลางซุ้มเป็นลวดลายเทพนม มีช่อลายกระหนกประดับ ที่ผนังถ้ำด้านซ้ายของพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่มีจารึกประกาศพระบรมราชโองการ (สะกดตามรูปและอักขรวิธีเดิม) ว่า “พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ เปนของท่านผู้มีศรัทธาโบราณสร้างไว้มีอยู่ในที่นี้นานแล้ว กับด้วยพระพุทธปฏิมารูปอื่นอีกสองพระองค์เคียงกัน ซึ่งตั้งต่างเบื้องขวาพระองค์นี้นั้น ครั้งเมื่อ ณ วัน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมเมีย สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๒๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษ์อันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประภาศเมืองเพชรบุรี ได้เสด็จประภาศถึงถ้ำนี้ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปสามพระองค์นี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงกั้นถ้ำไว้ชอบกลอยู่ จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้พระยาหัตถการบันชา จางวางช่างสิบหมู่ จ้างช่างปั้นปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ขึ้นแล้ว ให้ลงรักถวาย ทรงปิดทองเป็นส่วนหลวง แต่พระพุทธรูปสองพระองค์ตั้งอยู่เคียงกัน ฝ่ายขวาพระพุทธรูปพระองค์นี้นั้นได้พระราชทานให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่สองพระองค์ คือพระองค์เจ้านภวงษเปนกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ได้ว่ากรมล้อมพระราชวังพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าสุประดิฐเป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ได้ว่ากรมพระคลังมหาสมบัติพระองค์หนึ่ง ปฏิสังขรณ์พระองค์ละพระองค์ เพื่อจะให้เปนพระเกียรติยศสืบไปภายน่า การปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูป ๓ พระองค์นี้เปนอันสัมฤทธิบริบูรณแล้ว ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแลอวยไชยอวยพรไว้แก่เทพยดา มนุศทั้งปวง บันดาที่ได้มายังถ้ำนี้ แลได้เห็นได้นมัสการพระปฏิมารูปทั้ง ๓ พระองค์นี้จงทุกคน แลทรงพระอธิฐานด้วยการพระราชกุศลนี้ว่า ในประจุบันภพนี้ขอให้พระองค์และพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ มีพระชนมายุยืนยาวถาวรปราศจากโรคาทิอุปัทวันตรายทั้งปวง เปนศุขสวัศดีไปสิ้นกาลนาน เพื่อจะได้สมัยกาลโอกาสเปนที่ทรงบำเพญพระราชกุศลต่างๆ เปนอันมาก ในเพลาเมื่อได้มาประสบพบบุญอรุโณภาศ คือ พระพุทธสาศนาแลพระราชศรัทธาแลศิริราชสมบัติ แลขอให้พระราชกุศลนี้จงเปนปัจจัยให้ได้เสดจถึงที่สิ้นสุด ดับแห่งสังสารวัฏทุกขทั้งปวง คือ พระอมฤตยนฤพานนั้นเทอญ มีพระบรมราชโองการให้จารึกคำนี้ไว้ วัน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกโทศก เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาลประจุบันนี้”

พระพุทธรูปประจำแผ่นดิน
เพชรบุรี
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำแผ่นดิน

พระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกัน จำนวน 5 องค์ เป็นพระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ 3-4 กล่าวคือ พระพักตร์สงบนิ่งคล้ายหุ่น มีอุษณีษะ และพระรัศมีเป็นเปลวสูง เม็ดพระศกเล็ก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำเรียวเล็ก พระนาสิกโด่ง แย้มพระโอษฐ์ ปลายตวัดขึ้นเล็กน้อย พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งบนฐานสิงห์ประดับกลีบบัว ที่ผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปเหล่านี้ประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 1-4 และมีข้อความจารึกบนแผ่นหินที่ฐาน โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้1.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชรพระหัถขวาห้อยพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่๑ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราอุณาโลม2.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถขวาพาดพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธเลิศหล้านภาไลยซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๒ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราครุฑยุดนาค3.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๓ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก”ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหาปราสาท4.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหามงกุฎ 5. เป็นพระพุทธรูปปางขอฝนประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มคลุม องค์พระและแท่นฐานทาสีใหม่ จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีจารึกข้อความหรือไม่ รวมทั้งไม่ปรากฏรูปสัญลักษณ์ประจำพระองค์ที่ผ้าทิพย์ จากร่องรอยการก่อฐานและรูปแบบศิลปะขององค์พระพุทธรูปเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นเพิ่มเติมในภายหลังจากการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์แรก

ภาชนะดินเผาบ้านเชียง
อุดรธานี
ประติมากรรมภาชนะดินเผาบ้านเชียง

เป็นภาชนะดินเผาในหลุมฝังศพที่พบได้จากการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้1.สมัยต้น มีอายุระหว่าง 4,300-3,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อยระยะที่ 1 มีภาชนะดินเผาประเภทเด่นคือ ภาขนะดินเผาสีดำ-เทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ยๆ ลำตัวภาชนะครึ่งบนมักตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้ง แล้วตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการกดจุดหรือเป็นเส้นสั้นๆ เติมในพื้นที่ระหว่างลายเส้นคดโค้ง ส่วนครึ่งล่างของตัวภาชนะมักตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ซึ่งหมายถึงลวดลายที่เกิดจากการกดประทับผิวภาชนะดินเผาด้วยเชือกนั่นเองระยะที่ 2 เริ่มปรากฏภาชนะดินเผาแบบใหม่เพิ่มขึ้นมา คือ ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุศพเด็กก่อนที่จะนำไปฝัง นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาขนาดสามัญซึ่งมีการตกแต่งพื้นที่ส่วนใหญ่บนผิวภาชนะด้านนอกด้วยเส้นขีดเป็นลายคดโค้ง จึงดูเสมือนเป็นภาชนะที่มีปริมาณลวดลายขีดตกแต่งหนาแน่นกว่าบนภาชนะของสมัยต้นช่วงแรกระยะที่ 3 เริ่มปรากฏภาชนะแบบที่มีผนังด้านข้างตรงถึงเกือบตรง ทำให้มีรูปร่างภาชนะเป็นทรงกระบอก (beaker) และยังมีภาชนะประเภอหม้อก้นกลม คอภาชนะสั้นๆ ปากตั้งตรง ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบตลอดทั้งใบระยะที่ 4 ปรากฏภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลม มีกลุ่มหนึ่งตกแต่งบริเวณไหล่ภาชนะด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมกับการระบายด้วยสีแดง ในขณะที่ส่วนบริเวณลำตัวภาชนะช่วงใต้ไหล่ลงมาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาแบบนี้มีการตั้งชื่อว่า “ภาชนะแบบบ้านอ้อมแก้ว” เพราะพบว่าเป็นภาชนะดินเผาประเภทหลักที่พบในชั้นอยู่อาศัยของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงแรกที่บ้านอ้อมแก้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียง2.สมัยกลาง อายุระหว่าง 3,000-2,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อยภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ผิวนอกสีขาว ทำส่วนไหล่ภาชนะหักมุมหรือโค้งมากจนเกือบเป็นมุมค่อนข้างชัด มีทั้งแบบก้นกลมและก้นแหลม บางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนสีที่บริเวณใกล้ปากภาชนะ ในช่วงปลายสุดของสมัยกลาง เริ่มมีการตกแต่งปากภาชนะดินเผารูปแบบเช่นนี้ด้วยการทาสีแดง3.สมัยปลาย อายุระหว่าง 2,300-1,800 ปีมาแล้ว ช่วงต้นของสมัยปลาย พบภาชนะดินเผาเขียนสีแดงบนพื้นสีนวลช่วงกลางของสมัยปลาย เริ่มมีการใช้ภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นสีแดงช่วงท้ายของสมัยปลาย เริ่มมีการใช้ภาชนะดินเผาทาด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมันลวดลายที่ปรากฏบนภาชนะดินเผา สามารถจำแนกได้ดังนี้1.กลุ่มลวดลายรูปร่างเรขาคณิต 2.กลุ่มลวดลายอิสระแบบดุลยภาพสมมาตร 3.กลุ่มลวดลายอิสระแบบดุลยภาพอสมมาตร ส่วนรูปแบบลวดลายที่นิยมในสมัยปลาย คือ การเขียนสีบนเคลือบน้ำดินสีนวล ลวดลายวงกลมหรือวงรี ลวดลายเส้นโค้งแบบก้นหอยวนเข้าหาจุดศูนย์กลาง ลายเส้นโค้งแบบก้นหอยวนเข้าหาจุดศูนย์กลางแล้ววนออกและลวดลายตัว S และ Z ลวดลายภาชนะแสดงถึงความพิถีพิถัน ผู้ผลิตสร้างขึ้นให้กับผู้ตายตามประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับความตาย พื้นฐานทางความคิดของผู้สร้างสรรค์ลวดลายของชุมชนมีความร่วมกันทางวัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏถึงความหลากหลายในการออกแบบ ซึ่งมีพัฒนาการในระยะแรกเริ่มจากรูปแบบเรียบง่าย ต่อมาในระยะหลังเมื่อผลิตจำนวนมากขึ้น มีความรู้ความชำนาญมากขึ้นก็พัฒนาไปสู่การสร้างลวดลายที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แผ่นเงินดุนนูน
ขอนแก่น
ประติมากรรมแผ่นเงินดุนนูน

แผ่นเงินจำนวนทั้งสิ้น 66 แผ่น ดุนนูนเป็นรูปต่างๆ ได้แก่ พระพุทธรูป สถูป เทวดา และธรรมจักร แต่ละแผ่นไม่ซ้ำแบบกัน

ใบเสมา
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมใบเสมา

ใบเสมาแบบแผ่นแบน ชำรุดเสียหายมาก แต่ยังเห็นภาพสลักเรื่องได้ชัดเจน พระพุทธองค์ยืน พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรมทั้ง 2 ข้าง พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรเหลือบต่ำและโปนใหญ่ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้างพระพุทธองค์ครองจีวรห่มคลุม ชายจีวรด้านหน้าพาดผ่านพระชานุเป็นรูปโค้ง ขณะที่ชายจีวรด้านหลังตกลงมาเป็นกรอบสี่เหลี่ยมยาวจนถึงข้อพระบาท สบงยาวจรดข้อพระบาทเช่นกันเบื้องซ้ายของพระองค์มีภาพบุคคลขนาดเล็กสวมเครื่องทรงดังเทวดายืนเคียงข้าง ถัดขึ้นไปมีเทวดาประนมกรแทรกกายอยู่หลังเมฆ จากภาพถ่ายเก่าทำให้เห็นว่าภาพทางเบื้องขวาของพระองค์มีการจัดวางองค์ประกอบแบบนี้เช่นกัน แต่ปัจจุบันได้ชำรุดสูญหายแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นพุทธประวัติตอนใด แต่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเล่าพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะมีเทวดาขนาบอยู่ 2 ข้าง

พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท
นครปฐม
ประติมากรรมพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท

พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทองค์นี้ผ่านการบูรณะครั้งใหญ่มาแล้ว ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบพระวรกาย ไม่มีริ้ว พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่เหนือพรเพลา มีดอกบัวรองรับพระบาทไว้ พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงนูนและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์ใหญ่ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะสูง และมีพระรัศมีรูปลูกแก้ว