ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 129 ถึง 136 จาก 383 รายการ, 48 หน้า
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ประติมากรรมนี้อยู่ในสภาพชำรุด เหลือเพียงพระเศียรและพระวรกายส่วนบนที่แสดงอาการเอียงตนหรือตริภังค์ ในขณะที่มวยพระเกศา พระกรทั้งสองข้าง และพระวรกายส่วนล่างชำรุดสูญหายไปแล้วพระพักตร์อวบอิ่ม เครื่องประกอบพระพักตร์งามสมส่วน เปลือกพระเนตรปิดลงครึ่งหนึ่ง มีพระอุณาโลมที่พระนลาฏ สวมมงกุฎที่ประดับด้วยกลุ่มเพชรพลอยทรงสามเหลี่ยม มวยพระเกศาที่เคยมีอยู่ทางด้านบนได้หักหายไปแล้ว เหลือแต่พระเกศาเป็นลอนสยายปะพระอังสา สวมเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์โดยสังเกตได้จากหัวเลียงผาที่อยู่บริเวณพระอังสาซ้าย ยัชโญปวีตนี้ซ้อนทับโดยสังวาลไข่มุกประดับเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กรองศอมี 2 เส้น เส้นบนเป็นดั่งเม็ดไข่มุก เส้นล่างเป็นดั่งเครื่องประดับลายเพชรพลอยที่มีสายอุบะห้อยระย้า มีพาหุรัดประดับลายเพชรพลอย ในภาพรวมพระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดที่ไม่ปรากฏทั้งในศิลปะปาละและศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจหมายความว่าหล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์ที่ซ้อนทับด้วยสังวาลเพชรพลอย

พระพิมพ์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพิมพ์ดินดิบเหล่านี้ค้นพบจากหลากพื้นที่ในบริเวณภาคใต้ของไทย มีลักษณะเป็นก้อนกลม ส่วนบนยื่นแหลมเล็กน้อย บางองค์อาจทำส่วนล่างยื่นแหลมด้วย ประทับรูปพระโพธิสัตว์ หรือทิพยบุคคลอื่นๆ ไว้ตรงกลาง เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 21 กร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ท้าวกุเวรหรือท้าวชัมภละ พระพิมพ์แบบนี้ได้ค้บพบอยู่ตามดินแดนที่นับถือพุทธศาสนามหายาน โดยเพาะอย่างยิ่งราชวงศ์ปาละในประเทศอินเดีย และราชวงศ์ไศเลนทร์ในเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านเครือข่ายการนับถือพุทธศาสนามหายาน

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายซึ่งวางอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมที่ประดับรูปสิงห์อยู่ที่มุม เบื้องหลังเป็นประภามณฑลวงกลม พื้นที่ตรงกลางเจาะโปร่ง ขอบนอกประดับด้วยลายดอกไม้กลมและลายเปลวเพลิง ด้านบนมีฉัตร

พระพุทธรูป
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูป

พระพุทธรูปอยู่ในสภาพชำรุด พระพักตร์ชำรุดบางส่วน พระกรขวาและพระวรกายตั้งแต่พระชานุ (เข่า) ลงไปสูญหาย พระพุทธรูปยืนตรง พระเกศาขมวดเป็นก้นหอย พระอุษณีษะนูนแต่เพียงเล็กน้อย ทั้งสองสิ่งข้างต้นนี้ทำให้นึกถึงพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบอมราวดีที่น่าจะเป็นต้นแบบ ครองจีวรห่มเฉียง หนา มีแนวชายจีวรหนาพาดผ่านจากด้านล่างสู่ข้อพระกรซ้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงพระพุทธรูปอินเดียแบบอมราวดีเช่นกัน ทว่าจีวรกลับเรียบไม่มีริ้วอันแตกต่างไปจากพระพุทธรูปอมราวดีที่ทำริ้วเสมอ พระหัตถ์ขวากำและยกขึ้นระดับพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์เข้าสู่พระองค์

พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
นครปฐม
ประติมากรรมพระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

พระพุทธรูปลีลาเหนือฐานดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายแสดงปางวิตรรกมุทรา พระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างกลม คล้ายใบหน้าบุคคลจริง ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย มีอุษณีษะรองรับรัศมีเปลว พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ มีสังฆาฏิพาดพระอังสา ชายจีวรละจากพระพุทธบัลลังก์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างสมจริง

พระพุทธมนุสสนาค
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธมนุสสนาค

พระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานสิงห์กลีบบัว ที่ฐานมีจารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธรูป แสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวไม่เสมอกัน ครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้ง 2 ข้าง จีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ แลเห็นจีวรที่ห่มทับสบงที่เป็นริ้วชั้นใน รูปแบบของการทำจีวรจึงแสดงถึงแนวคิดอย่างสมจริง แต่พุทธลักษณะอื่นๆยังคงไว้ ได้แก่ พระพักตร์ที่สงบ พระเนตรเหลือบต่ำ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะเตี้ยๆรองรับพระรัศมีเปลว เหนือพระเศียรประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย 5 ชั้น

ประติมากรรมเรื่องสามก๊ก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมประติมากรรมเรื่องสามก๊ก

ประติมากรรมหินสลักในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เล่าเรื่องราวตอนต่างๆจากวรรณคดีเรื่องสามก๊ก ภาพบุคคลแต่งกายอย่างจีน ภาพทิวทัศน์ประกอบด้วยต้นไม้ ท้องฟ้า ยานพาหนะและสัตว์ เป็นกระบวนลายสลักอย่างจีน

พระศรีอาริยเมตไตรย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระศรีอาริยเมตไตรย

พระพุทธรูปทรงเครื่อง ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง ระหว่างพระขนงและขอบเปลือกพระเนตรเป็นแผ่น พระเนตรค่อนข้างเล็ก เปิดเล็กน้อยและเหลือบต่ำ พระโอษฐ์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระวรกายเพรียวบาง ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยเดียวกันที่วัดนางนอง