ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 105 ถึง 112 จาก 471 รายการ, 59 หน้า
พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล

เจดีย์เป็นทรงระฆังแปดเหลี่ยมมีลวดบัวรัดแบ่งองค์เจดีย์ออกเป็น 3 ชั้น ผิวภายนอกองค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีน้ำตาล ส่วนยอดสุดเป็นปลียอดสีทองรองรับด้วยดอกบัวบาน 8 กลีบ เหนือปลียอดกั้นฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น ตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนระเบียงกว้าง 2 ระดับ ประดับด้วยซุ้มภาพดินเผาเป็นเรื่องทศชาติชาดกและภาพป่าหิมพานต์ ซุ้มระเบียงด้านล่างเป็นสัญลักษณ์กองทัพอากาศ ในขณะที่ทางเข้าเจดีย์ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ทั้ง 4 ด้านภายในเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางประทานพรแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวจากอินโดนีเซียไว้ที่กึ่งกลางโถง พระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามว่า “พระพุทธบรมศาสดานวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” ผนังภายในมีภาพแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวเป็นภาพสังเวชนียสถาน เพดานห้องโถงตกแต่งด้วยโมเสกแก้วเป็นรูปดอกสาละเจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ 1) ทรงแปดเหลี่ยมของเจดีย์หมายถึงมรรค 8 2) การแบ่งเจดีย์เป็น 3 ชั้น หมายถึงการบำเพ็ญบารมี 3 ขั้น ได้แก่ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี โดยแต่ละขั้นจะมีขั้นละ 10 ทัศ รวมเป็น 30 ทัศ 3) ดอกบัวบานรองรับยอดปลี หมายถึงการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นอกจากแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาแล้วยังมีบางแนวคิดที่สัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย คือ เจดีย์มีความสูง 60 เมตร หมายถึงการสร้างเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา

บ้านดำ
เชียงราย
สถาปัตยกรรมบ้านดำ

ตัวอาคารแต่ละหลังได้รับการออกแบบให้มีแนวคิด และความน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงสิ่งที่สะสมและจัดแสดงภายในบ้าน เช่น บ้านล้านนา บ้านล้านช้าง ภายในจัดแสดงเครื่องเงิน เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ต่างๆ อาคารมหาวิหาร สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในจัดการแสดงศิลปะ ทั้งถาวรและหมุนเวียน หรืออูบหัวนกกกที่ได้แรงบันดาลใจจากนกเงือก ด้านในเป็นที่อยู่อาศัย อาคารทั้งหมดล้วนทาสีดำ

อุโบสถวัดร่องขุ่น
เชียงราย
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดร่องขุ่น

มีสะพานข้ามไปยังอุโบสถซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ใช้โทนสีขาว เงินและทอง ตัวอาคารทั้งหมดประดับหน้าบันด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่เป็นงานปูนปั้นประดับกระจกทั้งสิ้น ทั้งลายเครือเถา กระหนกเปลว ประติมากรรมรูปสัตว์ในคัมภีร์ผสมผสานกับจินตนาการของศิลปิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางแสดงธรรม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติที่มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ผสมผสานกับรูปทรงเชิงนามธรรมทั้งทางโลกและทางธรรมอุโบสถหลังนี้มีการผสมผสานหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้ากับทั้งตัวอาคาร ประติมากรรมและสี เช่นสีขาว หมายถึง พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ากระจกขาว หมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าสะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารสู่พุทธภูมิสันของสะพานซึ่งประดับด้วยรูปอสูรอมกันข้างละ 8 ตัว หมายถึง อุปกิเลส 18กึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมรุ ดอกบัวทิพย์ 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นพระอุโบสถ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์บันไดทางขึ้น 3 ขั้น หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ช่อฟ้าบนสันหลังคา หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา

วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
ชลบุรี
สถาปัตยกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร

วัดญาณสังวรารามแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส เขตโครงการในพระราชดำริ และเขตอุบาสกอุบาสิกา โดยสถาปัตยกรรมภายในวัดมีทั้งอาคารแบบไทยประเพณี คือ พระอุโบสถ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร อาคารแบบจีน คือ วิหารเซียน อาคารแบบไทยประยุกต์ คือ หอกลอง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากป้อมมหากาฬ และยังมีการจำลองวิหารมหาโพธิ์ พุทธคยามาไว้ด้วย หรือพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยภายใน 3 ชั้น ได้แก่ชั้นล่างเป็นโถงใหญ่สำหรับงานบำเพ็ญกุศล ชั้นสองเป็นที่ชุมนุมสงฆ์และปฏิบัติสมาธิภาวนา และชั้นสามสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

พระอุโบสถวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก

พระอุโบสถของวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกนี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมุงกระเบื้องทำจากแผ่นเหล็กสีขาว หน้าบันทำเป็นมุขประเจิดประดับปูนปั้นลายดอกพุดตาน มีตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ปิดทองอยู่ตรงกลาง ช่อฟ้า ใบระกาเป็นปูนปั้นไม่ประดับกระจก ผนังและเสาสี่เหลี่ยมฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม เหนือประตูมีจารึกคาถาเย ธมฺมา ด้วยอักษรอริยกะ มีหลักเสมาที่มุมทั้ง 4 และแผ่นเสมาที่พื้น ที่ด้านทั้ง 4 ภายในมีเพดานไม้เรียบ ประดิษฐานพระพุทธกาญจนธรรมสถิตเป็นพระพุทธรูปประธาน มีอัครสาวก พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรอยู่เบื้องซ้ายและขวาตามลำดับ

มัสยิดต้นสน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมมัสยิดต้นสน

มัสยิดต้นสนมีอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้อง มีลูกกรงโปร่งอยู่ตลอดแนวหลังคาและกันสาดยื่นออกมา ผนังอาคารเป็นสีน้ำตาลมีการตกแต่งผนังด้านนอกด้วยลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและเรขาคณิต กรอบประตูและหน้าต่างมีลักษณะคล้ายเกือกม้า ตรงกลางมีมุขยื่นออกมามีโดมทรงกระบอกอยู่ด้านบน ฐานโดมมีซี่คาดโดยรอบ ด้านในโดมทำเป็นโครงสร้างแบบรวงผึ้ง ภายในเป็นสถานที่ทำละหมาด มีมิร์หรอบเป็นชุดเดียวกับกำแพงกิบลัต ตัวมิร์หรอบทำจากหินอ่อนมีการเจาะช่องโค้งตกแต่งด้วยงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน มีมิมบัรตั้งอยู่ด้านข้าง เพดานมีโคมไฟหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือโคมไฟพระราชทานในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้มัสยิดต้นสน

มัสยิดบางหลวง
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมมัสยิดบางหลวง

มัสยิดแห่งนี้มีผังพื้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาพาไลยื่นออกมาข้างหน้า ด้านอื่นเป็นหลังคาปีกนก มีเสารองรับหลังคา บันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศเหนือและใต้ของพาไลด้านหน้า หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องว่าวสีเขียว หน้าบันปูนปนั้นผสมผสานศิลปะไทย ตะวันตก และจีน ภายในห้องละหมาดมีมิมบัรและมิห์รอบที่สร้างขึ้นใหม่โดยเจ้าสัวพุกในสมัยรัชกาลที่ 6 แทนที่ของเดิมที่ชำรุดลง มิห์รอบเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนทรงสามยอดประดับกระจกสี สันนิษฐานว่ามีที่มาจากซุ้มประตูวัดอนงคารามมีการแกะสลักอักษรอาหรับเป็นพระนามขององค์อัลลอฮ์และมีโองการสำคัญติดตั้งอยู่ภายในซุ้ม

อาสนวิหารอัสสัมชัญ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมอาสนวิหารอัสสัมชัญ

โบสถ์อัสสัมชัญนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยหันแท่นบูชาสู่แม่น้ำ ตัวโบสถ์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืมผ้า ตัวอาคารสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ ด้านหน้ามีหลังคาทรงจั่ว มีหน้าต่างกลมลายกลีบดอกไม้(Rose Window) ขนาดใหญ่ขนาบสองข้างด้วยหอคอยทรงสี่เหลี่ยม ผนังด้านข้างมีเสาอิงเลียนแบบเสายัน(Buttress) ด้านหลังเป็นผนังโค้งหลังคาทรงกรวยผ่าครึ่ง ภายในมีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือระเบียงโล่งด้านหน้า โถงชุมนุมใหญ่ มีเฉลียงด้านข้าง และส่วนศักดิ์สิทธิ์ด้านในอันเป็นที่ตั้งของพระแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่ ด้านหลังมีการเจาะหน้าต่างให้แสงเข้า ตกแต่งหน้าต่างด้วยกระจกเคลือบสีต่อด้วยรูปนักบุญ เพดานโค้งทรงประทุนเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสติดดาวสีทอง หัวเสาเป็นแบบไอโอนิคผสมโครินเธียน ตกแต่งภายในด้วยจิตรกรรมปูนเปียกและประติมากรรมปูนปั้น ส่วนโถงทางเข้ามีการชั้นลอยสำหรับนักขับร้องและออร์แกนขนาดใหญ่