ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มัสยิดบางหลวง
คำสำคัญ : มัสยิด, มัสยิดบางหลวง, มัสยิดกุฎีขาว, กุฎีโต๊ะหยี
ชื่อเรียกอื่น | สุเหร่า |
---|---|
ชื่อหลัก | มัสยิดบางหลวง |
ชื่ออื่น | มัสยิดกุฎีขาว,กุฎีโต๊ะหยี |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | วัดกัลยาณ์ |
อำเภอ | เขตธนบุรี |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.73799 Long : 100.48944 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661042.51 N : 1519246.74 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | - |
ประวัติการสร้าง | มัสยิดบางหลวงนี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยการนำของโต๊ะหยี พ่อค้าชาวมุสลิม ต่อมาก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง รูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบันน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากมีลักษณะแบบเดียวกับพระอุโบสถและพระวิหารแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ก่ออิฐถือปูน |
ประวัติการอนุรักษ์ | มัสยิดแห่งนี้ได้รับการบูรณะเรื่อยมา ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยความร่วมมือของชุมชนกุฎีขาว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ และกรุงเทพมหานคร |
ขนาด | กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร สูง 16 เมตร |
ลักษณะทางศิลปกรรม | มัสยิดแห่งนี้มีผังพื้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาพาไลยื่นออกมาข้างหน้า ด้านอื่นเป็นหลังคาปีกนก มีเสารองรับหลังคา บันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศเหนือและใต้ของพาไลด้านหน้า หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องว่าวสีเขียว หน้าบันปูนปนั้นผสมผสานศิลปะไทย ตะวันตก และจีน ภายในห้องละหมาดมีมิมบัรและมิห์รอบที่สร้างขึ้นใหม่โดยเจ้าสัวพุกในสมัยรัชกาลที่ 6 แทนที่ของเดิมที่ชำรุดลง มิห์รอบเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนทรงสามยอดประดับกระจกสี สันนิษฐานว่ามีที่มาจากซุ้มประตูวัดอนงคารามมีการแกะสลักอักษรอาหรับเป็นพระนามขององค์อัลลอฮ์และมีโองการสำคัญติดตั้งอยู่ภายในซุ้ม |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | มัสยิดบางหลวงเป็นศาสนสถานของศาสนาอิสลาม แต่มีรูปแบบเช่นเดียวกับอุโบสถวิหารของวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วมุงกระเบื้อง หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้น มีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมทึบรองรับชายคาโดยรอบอาคาร ซึ่งรูปแบบดังกล่าวเป็นมัสยิดที่ปรากฏเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและในโลก |
ข้อสังเกตอื่นๆ | 1. มัสยิดบางหลวงเป็นมัสยิดเพียงแห่งเดียวที่นำรูปแบบของอาคารเนื่องในพุทธศาสนาไปประยุกต์สร้างเป็นมัสยิด 2. นอกจากเหตุผลด้านความคงทนและความสง่างามของอาคารแล้ว การสร้างมัสยิดแบบก่ออิฐถือปูนยังแสดงถึงการยอมรับอำนาจของสยามผ่านทางขุนนางในชุมชนด้วย เช่นเดียวกับมัสยิดหลังอื่น เช่น มัสยิดต้นสน (หลังเดิม) หรือ มัสยิดมหานาค (หลังเดิม) |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา | อิสลาม |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ศาสนาอิสลาม |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. พระอุโบสถ วัดราชโอรสาราม กรุงเทพมหานคร ตัวอย่างของพระอุโบสถที่สร้างโดยใช้รูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ซึ่งส่งอิทธิพลแนวความคิดให้กับมัสยิดบางหลวง 2. มัสยิดต้นสน(หลังเดิม) ตัวอย่างมัสยิดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นเดียวกันและมีรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างศิลปะแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 และศิลปะตะวันตก ต่อมาทรุดตัวลงและได้มีการสร้างขึ้นใหม่โดยไม่ใช้รูปแบบเดิมอีกต่อไป 3. เนื่องจากตัวอาคารมัสยิดบางหลวงที่ถูกทาด้วยสีขาว ดังนั้นที่นี่จึงมักถูกเรียกว่า กุฎีขาว 4. มัสยิดในระยะแรกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นในการสร้าง อันเนื่องมาจากรูปแบบมัสยิดในดินแดนอาหรับไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขในท้องถิ่น ประกอบกับข้อจำกัดด้านวัสดุ โครงสร้างและกรรมวิธีการก่อสร้าง ยกเว้นมัสยิดของมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย ได้แก่ กุฎีเจริญพาศน์ และกุฎีปลายนา |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2017-02-24 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | เสาวลักษณ์ พงษธา โปษยะนันท์ และคณะ. 174 มรดกสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547. อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. มัสยิดในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557. เสาวนีย์ จิตต์หมวด. “กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในธนบุรี” สาส์นมุสลิม. ปีที่ 1, ฉบับที่ 2 (มิถุนายน – สิงหาคม 2545): 110 – 120. วิภาวี พงษ์ปิ่น. “การธำรงชาติพันธุ์มุสลิมในสังคมเมือง กรณีศึกษา : ชุมชนมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) กรุงเทพฯ” สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549. |