ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดทองนพคุณ
พระอุโบสถเป็นอาคารทรงไทยประเพณี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อนชั้นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง สันนิษฐานว่าเป็นงานในรุ่นหลังรัชกาลที่ 3 เนื่องจากมีการประดับตกแต่งที่ใช้รูปสัญลักษณ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 หน้าบันพระอุโบสถซ้อน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นรูปพานประดิษฐานพระไตรปิฎก ขนาบด้วยเชิงเทียน ชั้นล่างเป็นช่องประดับปริมากรรมรูปเทพนม โดยน่าจะมีความสอดคล้องกับภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถที่เขียนภาพคัมภีร์พระไตรปิฎก ช่องประตูทางเข้าพระอุโบสถมี 3 ช่อง ซุ้มประตูช่องกลางเป็นรูปมงกุฎ อีก 2 ช่อง เป็นซุ้มยอดทรงปราสาท ซุ้มหน้าต่างช่องกลางเป็นรูปมงกุฎ อีก2ซุ้มที่ขนาบข้างเป็นรูปพัดยศ
สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศตั้งอยู่บนเนินเขาธงชัย ริมหาดบ้านกรูด มีรูปแบบเป็นอาคารสูง 5 ชั้น ประดับชั้นบนสุดด้วยเจดีย์ทรงระฆังจำนวน 9 องค์ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นต่างๆ 5 ชั้นดังนี้ชั้นที่ 1 ใช้เป็นที่เก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ โดยมีร่องระบายน้ำฝนจากด้านบนลงสู่ชั้นที่ 1 ได้หลายช่องทางชั้นที่ 2 เป็นห้องโถงอเนกประสงค์ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางธรรมในวันสำคัญต่างๆ ทางศาสนาชั้นที่ 3 เป็นวิหารที่มีความกว้างขวางสำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญอย่างการรับผ้ากฐิน ผ้าป่า และฟังธรรมเทศนา มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนประเพณีวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทยชั้นที่ 4 เป็นอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประธานอภัย อันเป็นรูปแบบเดียวกับพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เบื้องหลังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นนี้มีระเบียงด้านนอกที่มองเห็นทิวทัศน์ทะเลบริเวณหาดบ้านกรูดผนังประดับกระจกสีเรื่องพระมหาชนกชาดก ชั้นที่ 5 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุภายในบุษบกซึ่งจะเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะเฉพาะเทศกาลวันวิสาขบูชา
สถาปัตยกรรมวัดเฉลิมพระเกียรติ
พระอุโบสถ พระวิหาร อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พระอุโบสถมีขนาดใหญ่กว่าพระวิหาร มีซุ้มใบเสมาอย่างเทศทั้ง 8 ทิศ ทั้งพระอุโบสถและพระวิหารมีรูปแบบอย่างพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ มีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมทึบไม่ประดับบัวหัวเสารองรับเครื่องหลังคาอยู่โดยรอบอาคาร และไม่มีคันทวย หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันปรากฏอิทธิพลแบบจีน โดยเป็นหน้าบันสามเหลี่ยมเรียบ ซ้อนชั้น ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีที่ประดิษฐ์เป็นลายดอกพุดตานก้านแย่งสลับใบ กรอบหน้าบันไม่ประดับเครื่องลำยอง จึงไม่ปรากฏช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แต่ทำเป็นรูปเศียรนาคแทน
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข มุขด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อเป็นแนวระเบียงคดในผังสี่เหลี่ยมล้อมรอบพระอุโบสถ หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้งโดยมีโครงสร้างแบบคอนกรีต หน้าบันแต่ละทิศประดับลวดลายไทยที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่เน้นความอ่อนช้อย
สถาปัตยกรรมพระปั้นหย่า
พระปั้นหย่าเป็นสถาปัตยกรรมทรงตึกอย่างตะวันตกที่ผสมกับจีน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีลวดบัวขนาดใหญ่คาดรอบอาคารเพื่อแบ่งชั้นอาคารให้เห็นได้อย่างชัดเจน หลังคาพระปั้นหย่ามุงด้วยกระเบื้องและประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบแบบจีนเป็นรูปดอกไม้ใบไม้อย่างเทศ กลางหน้าบันประดับรูปพระมหามงกุฎ สองข้างขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระนามเจ้าฟ้ามงกุฎ ผนังอาคารภายนอกเรียบง่าย ไม่ประดับลวดลาย กรอบประตูหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยม
สถาปัตยกรรมเจดีย์
ชิ้นส่วนดั้งเดิมของเจดีย์องค์นี้เริ่มต้นจากส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ (อิฐที่รองรับเป็นของที่ทำขึ้นใหม่) อาจเป็นส่วนที่เทียบได้กับอัณฑะหรือองค์ระฆังของเจดีย์ทรงกลม ตอนล่างของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำนี้ประดับด้วยกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีจารึกคาถาเย ธมฺมา ปรากฏอยู่ที่ตอนบนของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งเริ่มต้นจากแท่งกลมหรือก้านฉัตร ถัดขึ้นไปเป็นแผ่นหินซ้อนดหลั่นกันและลำดับขนาดจากใหญ่ไปเล็ก ส่วนนี้คือฉัตรซ้อนชั้นนั่นเอง บนยอดสุดเป็นรูปลูกแก้วกลม
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดโขลงสุวรรณคีรี
เจดีย์วัดโขลงสุวรรคีรีสร้างขึ้นจากอิฐ สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุทึบตันซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นฐานรับอาคารและลานประกอบพิธีกรรมที่อยู่ด้านบนแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จที่กลางด้านและมุม เฉพาะกลางด้านทิศตะวันออกทำบันไดทอดยาวเพื่อเป็นทางขึ้นสู่ลานชั้นบน องค์ประกอบของลวดบัวตามแนวตั้งที่สำตัญประกอบด้วยฐานหน้ากระดาน บัววลัยหรือกลศ ขื่อปลอม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานซ้อนชั้นมีท้องไม้ที่ประดับด้วยแนวเสา จากนั้นเป็นส่วนของเรือนธาตุทึบตันซึ่งประดับตกแต่งด้วยซุ้มจระนำ ลานยอดข้างบนเคยมีสิ่งก่อสร้างอื่นวางอยู่ทางตอนหลัง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเท่านั้น บริเวณมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสตั้งอยู่ 1 องค์
สถาปัตยกรรมเจดีย์จุลประโทน
เจดีย์จุลประโทนสร้างขึ้นจากอิฐ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้ว 1-2 ครั้งในอดีต สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุทึบตัน ส่วนยอดหักพังจนไม่เหลือร่องรอยแผนผังของฐานล่างสุดเป็นผังสี่เหลี่ยม ประดับด้วยเสาคั่นเป็นระยะ ระหว่างเสาแต่ละต้นประดับภาพปูนปั้นและดินเผาเล่าเรื่องชาดกในพุทธศาสนาและรูปอื่นๆ ปัจจุบันเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ แล้ว กึ่งกลางของแต่ละด้านเป็นบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ ทั้งนี้ฐานส่วนนี้ปัจจุบันจมอยู่ใต้ดินองค์ประกอบชั้นถัดมาเดิมทีเคยอยู่ในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและที่มุม อันเป็นระเบียบทั่วไปของเจดีย์ทวารวดี แต่ต่อมาถูกก่อทับโดยฐานสี่เหลี่ยมที่ประดับด้วยบัววลัยหรือกลศและเสาคั่นเป็นระยะ ทำให้เกิดพื้นที่สี่เหลี่ยมระหว่างเสา ปัจจุบันฐานสี่เหลี่ยมนี้ปรักหักพังลงทำให้บางด้านสามารถมองเห็นฐานยกเก็จที่ซ้อนอยู่ภายในได้ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุทึบตัน ประกอบด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายโดยรอบ พระพุทธรูปได้รับการเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ แล้ว ถัดขึ้นไปไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แต่ ศาสตราจารย์ ปิแอร์ ดูปองส์ สันนิษฐานว่าอาจซ้อนชั้นขึ้นไปเช่นเดียวกันกับเจดีย์กู่กุด อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน