ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 345 ถึง 352 จาก 941 รายการ, 118 หน้า
เจดีย์วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย

เจดีย์ช้างล้อมองค์นี้ใช้ศิลาแลงและปูนเป็นวัสดุหลัก องค์เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณทางด้านตะวันออกหรือด้านหน้า มีประติมากรรมรูปช้างลอยตัวจำนวน 39 เชือกล้อมรอบฐานทักษิณนี้ ระหว่างช้างแต่ละตัวมีเสาตามประทีปคั่นกลาง เจดีย์ที่ตั้งอยู่บนลานประทักษิณมีองค์ประกอบสำคัญจากด้านล่างสู่ด้านบน ได้แก่ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นด้านละ 5 ซุ้ม รวมเป็น 20 ซุ้ม ส่วนนี้เป็นรูปแบบพิเศษของเจดีย์องค์นี้ ถัดขึ้นไปเป็นรูปแบบโดยทั่วไปของเจดีย์ทรงกลมศิลปะสุโขทัย คือ ฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยชุดบัวถลา 3 ชั้น บัวปากระฆัง องค์ระฆังกลม บัลลังก์ และส่วนยอด

เจดีย์วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม

เจดีย์ประธานวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยารามเป็นงานก่ออิฐถือปูน มีส่วนฐานที่สูงใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะสุโขทัยระยะปลาย รายละเอียดของส่วนต่างๆ มีดังนี้ ฐานสูงใหญ่อันประกอบฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ด้านตะวันออกก่ออิฐเว้าเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนด้านอื่นทำเป็นมุขยื่นออกมา ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวซ้อนกันสองชั้น เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่ด้านบนของชุดฐานนี้ โดยรูปแบบทั่วไปเป็นไปตามแบบแผนศิลปะสุโขทัย ประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลา องค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอด

เจดีย์วัดช้างล้อมสุโขทัย
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดช้างล้อมสุโขทัย

เจดีย์ประธานวัดช้างล้อมตั้งอยู่กลางเขตพุทธาวาส ก่ออิฐฉาบปูน ล้อมรอบด้วยระเบียงคดโถง ด้านหน้าหรือด้านตะวันออกมีวิหารสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ ส่วนฐานของเจดีย์ประดับด้วยประติมากรรมรูปช้างที่ทำเพียงครึ่งตัวยืนอยู่ภายในซุ้ม ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานเขียงซ่อนลดหลั่นกัน ต่อด้วยบัวถลา 3 ชั้น องค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอด

มณฑปวัดตระพังทองหลาง
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมมณฑปวัดตระพังทองหลาง

มณฑปวัดตระพังทองหลางตั้งอยู่กึ่งกลางวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาไม่เหลือร่องรอยแล้ว เชื่อว่าเพราะทำจากเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง เมื่อเวลาผ่านไปจึงปรักหักพังลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน มีทางเข้าอยู่ทางด้านตะวันออก ส่วนด้านเหนือ ตะวันตก และใต้ มีจระนำประดับภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ ด้านเหนือเป็นตอนโปรดช้างนาฬาคีรี ด้านตะวันตกเป็นตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ ณ เมืองสาวัตถี และด้านใต้เป็นตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหน้าของมณฑปมีวิหารสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหลือแต่ฐานและแนวเสา เข้าใจว่าคงเป็นวิหารโถง หลังคาคงเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องได้หักพังลงหมดแล้ว

มณฑปวัดศรีชุม
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมมณฑปวัดศรีชุม

มณฑปอยู่ในผังสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ภายใน มีอุโมงค์ทางเดินอยู่ภายในผนังของมณฑป อุโมงค์นี้ไต่ระดับขึ้นไปจนถึงยอด ภายในอุโมงค์ประดับตกแต่งด้วยภาพสลักเรื่องชาดก การทำอุโมงค์ระหว่างผนังและสามารถเดินไปถึงด้านบนได้เช่นนี้อาจเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมพม่าสมัยเมืองพุกาม ส่วนยอดของมณฑปพังทลายลงแล้ว มีแนวสันนิษฐานไว้สองแบบ แบบแรกเชื่อว่าเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง แบบที่สองเชื่อว่าเป็นเจดีย์ทรงกลม

มณฑปพระสี่อิริยาบถ
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมมณฑปพระสี่อิริยาบถ

สภาพปัจจุบันของมณฑปพระสี่อิริยาบถเหลือให้เห็นเฉพาะอิฐที่เป็นแกนกลางของมณฑป หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องพังทลายลงแล้ว ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูประทับนั่ง และด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนอน พระพุทธรูปทั้งสี่องค์เป็นงานก่ออิฐฉาบปูนแบบนูนสูง โดยด้านหลังของพระพุทธรูปแต่ละองค์อิงติดกับแกนกลางของมณฑป

เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัย
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัย

เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่ออิฐฉาบปูน ตั้งอยู่กลางฐานไพที องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงยอดมีดังนี้ ฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดอยู่ทางด้านตะวันออก ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกฟักเพิ่มมุมหรือย่อมุมซ้อนกัน 2 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังเพิ่มมุมหรือย่อมุม จากนั้นเป็นส่วนยอดทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

วัดมหาธาตุสุโขทัย
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมวัดมหาธาตุสุโขทัย

วัดมหาธาตุสุโขทัยตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย สภาพปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุมั่นคงถาวร เช่น อิฐ หิน ศิลาแลง พื้นที่วัดล้อมรอบด้วยแนวกำแพงสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออกส่วนที่สำคัญที่สุดคือองค์พระมหาธาตุ ตั้งอยู่กึ่งกลางวัด เป็นเจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม หรือยอดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แวดล้อมด้วยเจดีย์รายแปดองค์ ด้านหน้าเป็นวิหารหลวง ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งแกนกลางของวัด ทางทิศใต้ ตะวันตก และเหนือของแกนกลางนี้มีซากเจดีย์และซากฐานอาคารหลายหลังกระจัดกระจายอยู่ สำหรับอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านเหนือของบริเวณวัด