ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

มณฑปพระสี่อิริยาบถ

คำสำคัญ : พระสี่อิริยาบถ, วัดเชตุพน

ชื่อเรียกอื่นพระสี่อิริยาบถ
ชื่อหลักวัดเชตุพน
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง
จังหวัดสุโขทัย
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 16.997901
Long : 99.706694
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 575225.32
N : 1879458.5
ตำแหน่งงานศิลปะแกนกลางวัด

ประวัติการสร้าง

วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏศักราชการสร้างที่แน่ชัด ทว่าข้อความที่ได้จากจารึกวัดสรศักดิ์ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1960 มีคำว่าพระเชตุพนปรากฏในจารึกนี้ ความว่า “...ให้นายสังฆการีไปนิมนต์พระมหาเถรเจ้า ธ สบวันดีมาขึ้นกุฎีและสานุศิษย์ทั้งเจ็ดพระองค์นั้น อีกสงฆ์สบสังวาสอันมาถวายพระพรแก่พระมหาเถรเจ้า จึงพ่ออยู่หัว ธ นิมนต์เข้าชุมนุมกับพระเชตุพน...” หากคำว่าเชตุพนในจารึกนี้หมายถึงวัดเชตุพน ย่อมหมายความว่าเมื่อ พ.ศ. 1960 วัดเชตุพนแห่งนี้ได้สร้างขึ้นแล้ว

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ขุดแต่งและบูรณะครั้งแรก พ.ศ. 2497 ต่อมาได้ดำเนินการอีกครั้งระหว่าง พ.ศ. 2512-2513 และอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2528
ลักษณะทางศิลปกรรม

สภาพปัจจุบันของมณฑปพระสี่อิริยาบถเหลือให้เห็นเฉพาะอิฐที่เป็นแกนกลางของมณฑป หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องพังทลายลงแล้ว ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูประทับนั่ง และด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนอน พระพุทธรูปทั้งสี่องค์เป็นงานก่ออิฐฉาบปูนแบบนูนสูง โดยด้านหลังของพระพุทธรูปแต่ละองค์อิงติดกับแกนกลางของมณฑป

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

การสร้างพระสี่อิริยาบถอันได้แก่ พระยืน พระลีลา พระนั่ง และพระนอน ไว้บนแกนสี่เหลี่ยมด้านละ 1 องค์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของศิลปะสุโขทัย และอาจเกี่ยวข้องกับศิลปะพม่าสมัยพุกามก็เป็นได้

ศาสตราจารย์ ดร. หม่อราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ เสนอว่าพระพุทธรูปสี่อิริยาบถน่าจะเกี่ยวข้องกับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐานสูตร อันเป็นพระสูตรหนึ่งในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มีความหมายถึงการตั้งมั่นแห่งสติ

มหาสติปัฏฐานแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน 2.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน 3.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน 4.ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สันนิษฐานว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งเป็นการพิจารณากายโดยวิธีการต่างๆ ควรเกี่ยวข้องกับการสร้างพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ เพราะวิธีหนึ่งในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานคือให้พิจารณาอิริยาบถทั้งสี่ ได้แก่ เดิน ยืน นั่ง นอน เป็นหนึ่งในหนทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะสุโขทัย
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. วัดพระสี่อิริยาบถ จังหวัดกำแพงเพชร เพราะมีรูปแบบคล้ายกัน โดยเป็นมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ 4 อิริยาบถ อยู่บนแกนศิลาแลงเดียวกัน

2. วัดพระพายหลวง เมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เพราะมีรูปแบบคล้ายกัน กล่าวคือ เป็นมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์อยู่บนแกนอิฐเดียวกัน แต่ที่นี่ยังทำไม่ครบสี่อิริยาบถ โดยพระพุทธรูปไสยาสน์ถูกสร้างออกมาทางด้านหน้า และไม่มีพระพุทธรูปนั่ง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-06-09
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึก และศิลปกรรม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, “กลุ่มพระพุทธรูปสี่อิริยาบถในศิลปะสุโขทัย ความหมายทางพุทธศาสนาบางประการ” ใน ศรีทวารวดีถึงศรีรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2537.