ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม

คำสำคัญ : เจดีย์วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม , เจดีย์วัดตาเถรขึงหนัง , วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม , วัดตาเถรขึงหนัง, จารึก, จารึกวัดตาเถรขึงหนัง

ชื่อเรียกอื่นเจดีย์วัดตาเถรขึงหนัง
ชื่อหลักวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม
ชื่ออื่นวัดตาเถรขึงหนัง
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง
จังหวัดสุโขทัย
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 16.997044
Long : 99.712868
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 575882.82
N : 1879366.04
ตำแหน่งงานศิลปะแกนกลางวัด

ประวัติการสร้าง

จารึกวัดตาเถรขึงหนังซึ่งค้นพบจากสถานที่แห่งนี้ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อ พ.ศ. 1943 สมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา และสมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีราชโอรส หรือพระยาไสลือไท ได้อาราธนาพระมหาศรีกีรติจากเมืองกำแพงเพชรมาสร้างอาราม ชื่อว่า ศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม อารามที่ปรากฏในจารึกนี้ก็คงหมายถึงวัดตาเถรขึงหนังซึ่งเป็นสถานที่ที่พบจารึกนั้นเอง ดังนั้นวัดแห่งนี้ควรสร้างขึ้นในระยะเวลานี้ โดยมีชื่อครั้งนั้นว่า วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม นอกจากนี้จารึกนี้ยังกล่าวถึงการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยสมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดาด้วย

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 มีการขุดแต่งบูรณะครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2508 และมีการขุดแต่งเมื่อปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2512 โดยการขุดแต่งโดยรอบฐานเจดีย์ วิหารแล้วเสร็จ

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์ประธานวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยารามเป็นงานก่ออิฐถือปูน มีส่วนฐานที่สูงใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะสุโขทัยระยะปลาย รายละเอียดของส่วนต่างๆ มีดังนี้

ฐานสูงใหญ่อันประกอบฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ด้านตะวันออกก่ออิฐเว้าเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนด้านอื่นทำเป็นมุขยื่นออกมา ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวซ้อนกันสองชั้น เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่ด้านบนของชุดฐานนี้ โดยรูปแบบทั่วไปเป็นไปตามแบบแผนศิลปะสุโขทัย ประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลา องค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอด
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม หรือวัดตาเถรขึงหนังปรากฏศักราชการสร้างที่แน่ชัด ว่าสร้างราว พ.ศ. 1943 เป็นต้นมา นับเป็นตัวอย่างสำหรับศึกษาเปรียบเทียบศิลปกรรมสุโขทัยในระยะเวลาเดียวกันนี้ได้ โดยเฉพาะประเด็นการทำฐานเจดีย์ให้มีความใหญ่โตจนทำให้ขนาดโดยรวมของเจดีย์สูงใหญ่ตามไปด้วย

สถานที่แห่งนี้เป็นที่ค้นพบจารึกวัดตาเถรขึงหนัง พ.ศ. 1947 อักษรขอมสุโขทัยและไทยสุโขทัย ภาษาบาลีและไทย เนื้อหาสำคัญกล่าวถึงสมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา และสมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีราชโอรส (พระยาไสลือไท) ขึ้นครองราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย และการอาราธนาสมเด็จพระมหาศรีกีรติจากเมืองกำแพงเพชรมาสร้างวัด “ศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม” ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่แห่งนี้นั่นเอง
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะสุโขทัย
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-28
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

คณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถานจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร, รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่าสุโขทัย พ.ศ. 2508 – 2512. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2512.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึก และศิลปกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.

ศิลปากร, กรม. ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.