ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 8 รายการ, 1 หน้า
พระพุทธรูปปางมารวิชัยมีจารึก
เชียงใหม่
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีจารึก

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่ อุษณีษะทรงสูง ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเปิดมองตรง พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถันปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยมซึ่งหล่อติดกับพระพุทธรูป ฐานล่างสุดมีจารึกอยู่ทั้งหมด 4 แถวเริ่มจากด้านหน้าต่อเนื่องไปถึงบางส่วนของด้านหลัง เป็นตัวเลข เรือนยันต์ตัวเลข ดวงฤกษ์ แล้วจึงเป็นข้อความภาษาบาลีและภาษาไทยด้วยอักษรธรรมล้านนา

พระพุทธรูปปางกดรอยพระบาท
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางกดรอยพระบาท

พระพุทธรูปองค์ประทับยืนในอิริยาบถลีลา พระพักตร์เล็ก ขมวดพระเกศาใหญ่ อุษณีษะทรงสูงอย่างมาก ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระวรกายเพรียวบาง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง พระกรทั้งสองข้างปล่อยลงไปตรงๆ พระบาทขวากดประทับลงบนฐานที่มีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่ 3 รอย

หลวงพ่อศรีเมือง
หนองคาย
ประติมากรรมหลวงพ่อศรีเมือง

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลวไฟ พระพักตร์ค่อนข้างใหญ่ พระเนตรใหญ่หรี่ลงต่ำ พระนาสิกใหญ่มากส่วนยอดพระนาสิกตัด พระโอษฐ์กว้างยิ้มแบบล้านช้าง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบพระหัตถ์ค่อนข้างใหญ่เทอะทะ นิ้วพระหัตถ์ค่อนข้างใหญ่ยาวเท่ากัน ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายที่ปลายกลีบบัวงอนขึ้น มีการทำฐานสิงห์ฉลุลายและมีจารึกอยู่บริเวณฐานแปดเหลี่ยมด้านล่าง

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปองค์นี้แสดงปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาปานกลาง พระรัศมีเป็นเปลวไม่สูงมาก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำหรี่เรียวยาวปลายตวัดขึ้น พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์หยักโค้งเป็นคลื่น พระวรกายสมส่วน สังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ยาวไม่เท่ากันและพระดัชนีกระดกขึ้นเล็กน้อยพระพุทธรูปองค์นี้มีจารึกอักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์กำกับว่า “สังคโลก” เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 แสดงว่าพระพุทธ์รูปองค์นี้ถูกอัญเชิญลงมาจากสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัยในคราวที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากสุโขทัย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะเด่นซึ่งเป็นแบบแผนของพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ได้แก่ พระพักตร์เป็นวงรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์งามสมส่วน เม็ดพะศกใหญ่ขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุณีษะนูน พระรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กและยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นริ้วดังที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ ที่ฐานมีจารึกสมัยสุโขทัยระบุชื่อและความปรารถนาของผู้สร้าง

เจดีย์วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม

เจดีย์ประธานวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยารามเป็นงานก่ออิฐถือปูน มีส่วนฐานที่สูงใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะสุโขทัยระยะปลาย รายละเอียดของส่วนต่างๆ มีดังนี้ ฐานสูงใหญ่อันประกอบฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ด้านตะวันออกก่ออิฐเว้าเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนด้านอื่นทำเป็นมุขยื่นออกมา ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวซ้อนกันสองชั้น เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่ด้านบนของชุดฐานนี้ โดยรูปแบบทั่วไปเป็นไปตามแบบแผนศิลปะสุโขทัย ประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลา องค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอด

เจดีย์กุพโยคจีที่มยิงกบา
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์กุพโยคจีที่มยิงกบา

เจดียวิหารสมัยพุกามตอนต้น ซึ่งนิยมเรือนธาตุทรงเตี้ยและมืดทึบ ด้วยเหตุนี้ หน้าต่างโดยรอบของเจดีย์จึงปิดทึบไปด้วยแผง รูปแบบหน้าต่างเองก็ประดับไปด้วยเคล็กสั้นๆตามแบบพุกามตอนต้น ด้านบนปรากฏหลังคาลาดซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์ในสมัยพุกามตอนต้น ด้านบนสุดปรากฏศิขระในลักษณะเดียวกับเจดีย์นาคยนและอานันทเจดีย์ คือศิขระที่มีซุ้มประดับที่เก็จประธาน อันเป็นรูปแบศิขระที่นิยมในรัชกาลนี้

เทวาลัยที่มีจารึกกำหนดอายุ จันทิปะนะตะรัน
บลิตาร์
สถาปัตยกรรมเทวาลัยที่มีจารึกกำหนดอายุ จันทิปะนะตะรัน

แผนผังของจันทิแห่งนี้คล้ายกับเทวาลัยในเกาะบาหลีในปัจจุบัน คือแบ่งออกเป็น 3 ลาน ระหว่างลานชั้นที่ 1 กับลานชั้นที่ 2 นั้น ปรากฏจันทิซึ่งมีจารึกระบุว่าสร้างขึ้นในพ.ศ.1912 เทวาลัยมีขนาดเล็กและอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรือนธาตุมีรัดอกคาดและที่ประตูทั้งสี่ทิศประดับหน้ากาลที่มีลักษณะดุร้าย คือ มีเขี้ยว มีปากล่างและมีมือยกขึ้นในท่าขู่ตามแบบชวาตะวันออกโดยทั่วไป ยอดของจันทิมีรูปแบบคล้ายคลึงกับจันทิในระยะก่อนหน้า คือประกอบด้วยชั้นหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่ประดับด้วยอาคารจำลอง อย่างไรก็ตาม เส้นรอบนอกของยอดที่นี่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่อ่อนช้อยกว่าสมัยสิงหาส่าหรี อาคารจำลองของจันทิที่มีจำนวนถึง 7 หลังนั้น ก็มีจำนวนมากกว่าสมัยสิงหาส่าหรีที่มีจำนวนเพียง 5 หลังต่อชั้นเท่านั้น