ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมธรรมจักร
ธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง มีรูเจาะทะลุที่เหนือดุม ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่ไม่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรองค์นี้แลดูทึบ นอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายก้านขด เบื้องล่างสลักรูปบุคคลนั่งขัดสมาธิและถือดอกบัว สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระสุริยเทพ
ประติมากรรมธรรมจักร
ธรรมจักรชุดนี้พบว่ามีส่วนประกอบครบทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ เสาแปดเหลี่ยม ฐานสี่เหลี่ยม และธรรมจักร โดยฐานสี่เหลี่ยมทำหน้าที่ยึดตรึงให้ธรรมจักรวางอยู่บนยอดเสาได้โดยไม่ร่วงหล่นธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรแลดูโปร่ง นอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายดอกไม้กลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบกงมีลวดลายกนกคล้ายเปลวไฟ เบื้องล่างมีแผงสามเหลี่ยมรับน้ำหนัก ทั้งยังมีกลีบบัวรองรับ และมีเดือยยาวเสียบลงไปในแท่นสี่เหลี่ยมฐานสี่เหลี่ยมประดับตกแต่งด้วยลายดอกไม้กลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มุมทั้งสี่ออกแบบลวดลายเลียนแบบมกร มีช่องเจาะทะลุตรงกลางเพื่อรับเดือยของธรรมจักรและของเสา ทำหน้าที่ยึดตรึงเสากับธรรมจักรให้ติดกัน เสาธรรมจักรมีลำตัวอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ด้านล่างสุดสลักรูปหงส์และดอกบัวรองรับลำตัวเสา ยอดสาสลักลายพวงมาลัยและอุบะดอกไม้ ถัดขึ้นไปเป็นเดือยที่สอดเข้าไปในฐานสี่เหลี่ยม
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะเด่นซึ่งเป็นแบบแผนของพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ได้แก่ พระพักตร์เป็นวงรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์งามสมส่วน เม็ดพะศกใหญ่ขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุณีษะนูน พระรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กและยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นริ้วดังที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ ที่ฐานมีจารึกสมัยสุโขทัยระบุชื่อและความปรารถนาของผู้สร้าง
ประติมากรรมพระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
พระพุทธรูปลีลาเหนือฐานดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายแสดงปางวิตรรกมุทรา พระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างกลม คล้ายใบหน้าบุคคลจริง ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย มีอุษณีษะรองรับรัศมีเปลว พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ มีสังฆาฏิพาดพระอังสา ชายจีวรละจากพระพุทธบัลลังก์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างสมจริง
ประติมากรรมพระพุทธมนุสสนาค
พระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานสิงห์กลีบบัว ที่ฐานมีจารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธรูป แสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวไม่เสมอกัน ครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้ง 2 ข้าง จีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ แลเห็นจีวรที่ห่มทับสบงที่เป็นริ้วชั้นใน รูปแบบของการทำจีวรจึงแสดงถึงแนวคิดอย่างสมจริง แต่พุทธลักษณะอื่นๆยังคงไว้ ได้แก่ พระพักตร์ที่สงบ พระเนตรเหลือบต่ำ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะเตี้ยๆรองรับพระรัศมีเปลว เหนือพระเศียรประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย 5 ชั้น
สถาปัตยกรรมสำเภาและเจดีย์ทรงเครื่อง
เรือสำเภาก่ออิฐถือปูน ลักษณะคล้ายเรือสำเภาแต้จิ๋ว หัวเรือหันสู่ทิศใต้ไปสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายเรือหันไปทางทิศเหนือ ห้องท้ายเรือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาท กลางลำเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ 1 องค์ และทางหัวเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดเล็กกว่าอีก 1 องค์ รูปแบบของเจดีย์ทรงเครื่องประกอบด้วยชุดฐานสิงห์ 3 ฐาน มีบัวทรงคลุ่มรองรับองค์ระฆังเพิ่มมุม ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถา ปลี และเม็ดน้ำค้าง เจดีย์ทรงเครื่องเป็นรูปแบบที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายและเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3
สถาปัตยกรรมพระพุทธปรางค์
ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน ส่วนล่างของปรางค์ทั้ง 3 องค์ เป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนเรือนธาตุของปรางค์ประธานเป็นอาคารแบบมณฑปจัตุรมุข ภายนอกมีประติมากรรมยักษ์ยืนกุมกระบองที่มุมย่อย ผนังมุมย่อยประดับกาบพรหมศร หลังคาจัตุรมุขซ้อน 3 ชั้นมุงกระเบื้อง ที่ตำแหน่งช่อฟ้าประดับนกเจ่า ใบระกา และหางหงส์ลดหลั่นลงมาตามลำดับ ส่วนยอดเป็นปรางค์ซ้อน 6 ชั้นประดับกลีบขนุนที่แนบชิดติดกัน มีชั้นเทพนมและยักษ์แบก ปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบข้างมีรูปแบบเหมือนกัน แตกต่างจากปรางค์ประธานเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า หลังซ้อน 2 ชั้น หน้าบันเป็นสามเหลี่ยมเรียบ ไม่ประดับนกเจ่า ใบระกาและหางหงส์
ประติมากรรมพระศรีอาริยเมตไตรย
พระพุทธรูปทรงเครื่อง ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง ระหว่างพระขนงและขอบเปลือกพระเนตรเป็นแผ่น พระเนตรค่อนข้างเล็ก เปิดเล็กน้อยและเหลือบต่ำ พระโอษฐ์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระวรกายเพรียวบาง ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยเดียวกันที่วัดนางนอง