ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 81 ถึง 88 จาก 354 รายการ, 45 หน้า
พระพิมพ์
ขอนแก่น
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพุทธเจ้านั่งทำปางสมาธิบนบัลลังก์ เบื้องขวาและเบื้องซ้ายมีภาพบุคคลด้านละ 1 คน โดยบุคคลทางขวาของพระพุทธองค์เป็นบุรุษในขณะที่ทางซ้ายน่าจะเป็นสตรี เบื้องบนเป็นพระพุทธนิรมิต 5 องค์ในอิริยาบถต่างๆ มีภาพบุคคลนั่งย่อเข่าและประนมมือไหว้พระพุทธนิรมิตองค์กลาง

พระพิมพ์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพิมพ์แสดงภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถีเพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์นี้ พระพุทธเจ้านั่งสมาธิบนบัลลังก์ซึ่งวางอยู่ใต้ต้นมะม่วง มีแส้กางกั้นเหนือพระเศียร แส้ปักอยู่ 2 ข้าง ถัดออกไปเป็นภาพคล้ายสถูป ทั้งสองข้างแวดล้อมด้วยภาพบุคคลจำนวนมาก คงมีทั้งบุคคลในโลกมนุษย์ และทิพยบุคคลจากสวรรค์ถัดขึ้นไปด้านบนตามกิ่งก้านของต้นมะม่วงปรากฏภาพพระพุทธนิรมิตในอิริยาบถต่างๆ 5 องค์ เบื้องล่างสุดมีตัวอักษรเขียนคาถา เย ธมฺมา ปรากฏอยู่

พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

พระพุทธเจ้ายืนอยู่บนดอกบัวที่วางอยู่เหนือพาหนะ ขนาบข้างด้วยบุคคลข้างละ 1 คน พระหัตถ์ทั้งสองข้างทำปางแสดงธรรม มีรูเจาะทะลุปรากฏอยู่บริเวณฐานบัว พาหนะทำเป็นรูปสัตว์ผสมลักษณะเด่นคือ มีปีก มีจะงอยปากแหลม มีเขา นิยมเรียกพาหนะแบบนี้ว่า ตัวพนัสบดี รูปบุคคลยืนที่ยืนอยู่สองข้างนั้น ข้างหนึ่งถือแส้ ข้างหนึ่งถือฉัตร น่าจะเป็นพระอินทร์และพระพรหม

พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี
นครปฐม
ประติมากรรมพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

พระพุทธเจ้ายืนอยู่เหนือพาหนะ ขนาบข้างด้วยบุคคลข้างละ 1 คน พระหัตถ์ทั้งสองข้างทำปางแสดงธรรม มีรูเจาะทะลุปรากฏอยู่บริเวณพระชงฆ์ พาหนะทำเป็นรูปบุคคลขนาดใหญ่เห็นครึ่งตัว มีปีก สวมมงกุฎทรงกระบอก ถือดอกบัวในมือข้างละดอก บางท่านเรียกพาหนะแบบนี้ว่า พระอรุณาทิตย์ หรือพระอาทิตย์ เหนือดอกบัวแต่ละดอกเป็นรูปบุคคลยืน แม้จะชำรุดเสียหายแต่สังเกตได้ว่าบุคคลข้างหนึ่งถือแส้ สันนิษฐานว่าอาจเป็นรูปพระอินทร์และพระพรหม

ภาพสลักเล่าเรื่องยมกปาฏิหาริย์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมภาพสลักเล่าเรื่องยมกปาฏิหาริย์

แผ่นหินนี้สลักภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถีเพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์ พระพุทธเจ้านั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ซึ่งวางอยู่ใต้ต้นมะม่วง พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานธรรมทั้งสองข้างแวดล้อมด้วยภาพบุคคลจำนวนมาก แต่ละข้างมีเส้นตรงตามแนวนอนแบ่งกลุ่มบุคคลออกเป็น 2 กลุ่ม น่าจะสื่อว่าใต้เส้นตรงเป็นโลกมนุษย์ เหนือเส้นตรงเป็นสวรรค์ ดังนั้นกลุ่มบุคคลใต้แนวเส้นตรงที่อยู่ทางขวาของพระพุทธองค์น่าจะหมายถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมด้วยผู้ติดตาม ในขณะที่อีกข้างหนึ่งใต้แนวเส้นตรงเป็นเหล่าเดียรถีย์ที่พ่ายแพ้ สำหรับบุคคลที่อยู่เหนือแนวเส้นตรงเป็นทิพยบุคคลบนสวรรค์ โดยด้านขวาของพระพุทธองค์เป็นบุคคลสวมเครื่องทรงจำนวนมากน่าจะเป็นเทวดาที่นำโดยพระอินทร์ ส่วนด้านซ้ายเป็นบุคคลที่ครองเพศนักบวชน่าจะเป็นพระพรหม ถัดขึ้นไปด้านบนตามกิ่งก้านของต้นมะม่วงปรากฏภาพพระพุทธนิรมิตในอิริยาบถต่างๆ 7 องค์

ฐานธรรมจักร
นครปฐม
ประติมากรรมฐานธรรมจักร

ฐานรับธรรมจักรนี้ชำรุดเสียหายมาก ทำจากหิน มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมที่เจาะทะลุจากตรงกลางจากบนลงล่าง ทำหน้าที่ยึดตรึงองค์ธรรมจักรกับเสาไว้ด้วยกัน ด้านทั้งสี่สลักภาพพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาเหมือนกัน แต่แตกหักเสียหายมาก มีเพียงด้านเดียวที่เหลือรายละเอียดมากพอจะศึกษาได้ พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา เบื้องล่างด้านซ้ายของพระองค์เป็นนักบวชพราหมณ์ 5 คน เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์ก่อนบวช ด้านขวาของพระองค์เป็นพระสงฆ์ 5 รูป เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์หลัง ถัดขึ้นไปทั้งด้านขวาและซ้ายเป็นภาพบุคคลที่เชื่อว่าเป็นเทวดาและพรหม

เศียรพระพุทธรูป
ราชบุรี
ประติมากรรมเศียรพระพุทธรูป

เศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีเค้าพระพักตร์แป้น พระนลาฏกว้าง พระขนงนูนเป็นสันและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะเป็นต่อมนูน มีช่องเจาะอยู่ที่กลางพระอุษณีษะ สันนิษฐานว่าเดิมทีเคยมีพระรัศมีที่ทำจากอัญมณีหรือหินมีค่าประกอบไว้ นอกจากนี้อาจเคยเป็นช่องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วย

ธรรมจักร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมธรรมจักร

ธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรแลดูโปร่งนอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายดอกไม้กลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบกงมีลวดลายกนกคล้ายเปลวไฟ ส่วนล่างมีแผงสามเหลี่ยมรับน้ำหนักต่อเนื่องไปยังแท่นฐานสี่เหลี่ยมที่รับองค์ธรรมจักรไว้ตามตำแหน่งต่างๆ ของธรรมจักรองค์นี้มีจารึกข้อพระธรรมภาษาบาลี อักษรปัลลวะ เป็นข้อความจากธรรมจักรกัปปวัตรสูตร