ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องเวสสันดรชาดก
ภาพมหาเวสสันดรชาดกมีฉากใหญ่ที่ผนังเหนือช่องหน้าต่างและประตูรวม 3 ด้าน เรียงลำดับจากด้านขวาของพระประธาน ได้แก่ ผนังด้านทิศใต้เป็นฉากกัณฑ์หิมพานต์ เล่าเหตุการณ์ตอนพระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ ทำให้พระเวสสันดร พระนางมัทรีและพระโอรสธิดาต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง ผนังด้านทิศตะวันออกเป็นฉากทานกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ขณะพระเวสสันดรเสด็จออกจากกรุงสีพีและได้ทรงบริจาคทางตลอดเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่ป่าหิมพานต์แม้กระทั่งม้าเทียมรถและราชรถ ผนังด้านทิศเหนือเป็นฉากนครกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ในตอนจบที่กษัตริย์ทั้งหกเสด็จกลับสู่เมืองสีพีด้วยกระบวนอิสริยยศ โดยมีฉากพระราชวังที่ละม้ายคล้ายกับพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ส่วนภาพเหตุการณ์สำคัญจากกัณฑ์อื่นๆ อยู่บริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง ซึ่งมีการจัดวางองค์ประกอบโดยให้บุคคลสำคัญของเรื่องอยู่ใจกลางภาพ แวดล้อมด้วยฉากสถานที่หรือทิวทัศน์อย่างสมจริงตามเรื่องราวในชาดก
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องธุดงควัตร
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องธุดงควัตรเขียนอยู่บริเวณหนังระหว่างช่องหน้าต่างโดยรอบพระอุโบสถ โดย 1 ห้องภาพได้เขียนรายละเอียดของข้อวัตร 1 ข้อ เรียงลำดับกันไปจนครบทั้ง 13 ข้อ โดยมีข้อความเขียนอธิบายข้อวัตรแต่ละข้อที่ใต้ภาพ ธุดงควัตรทั้ง 13 ข้อ ได้แก่1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร 4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือบาตรเป็นวัตร 7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร 8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร10. ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตร11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร 12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร13. ถือการไม่นอนเป็นวัตร การเขียนภาพเริ่มใช้เทคนิคอย่างตะวันตกแล้ว สังเกตได้จากการกำหนดเส้นขอบฟ้า การแรเงา การใช้เส้นนำสายตาเพื่อให้เห็นระยะและมิติของภาพวัตถุและบุคคลต่างๆ ภาพต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มไล่สีเพื่อแสดงความอ่อนแก่ของใบไม้ ภาพคลื่นน้ำที่มีลักษณะเป็นธรรมชาติ ฉากส่วนใหญ่เป็นภาพอาคารสถานที่ในวัดและภาพทิวทัศน์ของป่าเขาอันเงียบสงบซึ่งเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบไทยประเพณีอยู่ด้วย เช่นการเขียนภาพเทวดาทรงเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นแนวคิดและพัฒนาการของงานช่างจิตรกรรมไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สืบเนื่องจากสมัยก่อน
สถาปัตยกรรมพระเจดีย์หลวง
รูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 กล่าวคือ เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณในผังสี่เหลี่ยม ส่วนฐานประทักษิณเจาะช่องวงโค้ง ที่พนักระเบียงประดับด้วยช่องวงโค้งเช่นกัน มีบันไดทางขึ้นทางด้านตะวันออกและตะวันตก ลักษณะเป็นบันไดประชิด องค์เจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ชุดมาลัยเถาและบัวลูกแก้วอกไก่รองรับองค์ระฆัง มีบัลลังก์สี่เหลี่ยม ปล้องไฉนและปลียอด ปัจจุบันได้รับการปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพสมบูรณ์
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรม
ภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่น โทนสีโดยรวมค่อนข้างมืดครึ้ม ใช้หลักทัศนียวิทยา (perspective) อย่างตะวันตก โดยกำหนดเส้นขอบฟ้าเพื่อเป็นจุดนำสายตา ก่อให้เกิดมิติเนื่องจากการแสดงระยะใกล้-ไกลของวัตถุหรือบุคคลในภาพ ใช้เทคนิคการเกลี่ยสีและให้แสงเงา ซึ่งแตกต่างจากการระบายสีแล้วตัดเส้นแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ภาพบุคคลแต่งกายแบบตะวันตก เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป แม้ภาพโดยรวมจะมีรูปแบบอย่างตะวันตก แต่ยังคงปรากฏภาพเทวดานางฟ้าแต่งกายทรงเครื่องอย่างไทยประเพณีอยู่ในท่าเหาะบนท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆและกลุ่มดาวต่างๆ ที่ใต้ภาพปริศนาธรรมแต่ละห้องมีข้อความอธิบายความหมายของแต่ละภาพ
จิตรกรรม จิตรกรรมเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎก
จิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเหตุการณ์การสังคายนาพระไตรปิฎกในพุทธศาสนารวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง เริ่มจากผนังด้านขวาของพระประธาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอินเดีย เรียงลำดับไปยังผนังด้านหลังซึ่งเป็นเหตุการณ์ในลังกา และผนังด้านซ้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ในล้านนาและในสมัยรัชกาลที่ 1 ผนังเบื้องหน้าพระประธานเขียนภาพตู้พระไตรปิฎก 3 ตู้ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระไตรปิฎกที่ได้รับการสังคายนาแล้ว ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ภายในตู้บรรจุพระคัมภีร์ห่อด้วยผ้ายกปิดทอง มีภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สังเกตได้จากการแต่งกายที่แตกต่างกันกำลังกราบไหว้บูชาตู้พระธรรมเหล่านั้น
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส
พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสังขรณ์ตามเค้าโครงของพระพุทธรูปเดิมที่อาจเป็นฝีมือช่างในท้องถิ่น พระวรกายอวบอ้วนขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ แนวพระขนงโก่งต่อเนื่องกับพระนาสิกแหลม พระหนุและพระศอสั้น มีพระรัศมีเปลวค่อนข้างสั้น มีอุษณีษะ เม็ดพระศกเล็กคล้ายหนามขนุน พระกรรณยาวใหญ่ พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง ประทับนั่งบนแท่นฐานปูน เบื้องหลังมีเสาที่ตกแต่งบัวหัวเสาด้วยลายใบผักกาดแบบตะวันตก รองรับซุ้มปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปลำตัวนาคหยักโค้ง ปลายซุ้มเป็นรูปนาคหันหัวเข้า ยอดกลางซุ้มเป็นลวดลายเทพนม มีช่อลายกระหนกประดับ ที่ผนังถ้ำด้านซ้ายของพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่มีจารึกประกาศพระบรมราชโองการ (สะกดตามรูปและอักขรวิธีเดิม) ว่า “พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ เปนของท่านผู้มีศรัทธาโบราณสร้างไว้มีอยู่ในที่นี้นานแล้ว กับด้วยพระพุทธปฏิมารูปอื่นอีกสองพระองค์เคียงกัน ซึ่งตั้งต่างเบื้องขวาพระองค์นี้นั้น ครั้งเมื่อ ณ วัน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมเมีย สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๒๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษ์อันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประภาศเมืองเพชรบุรี ได้เสด็จประภาศถึงถ้ำนี้ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปสามพระองค์นี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงกั้นถ้ำไว้ชอบกลอยู่ จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้พระยาหัตถการบันชา จางวางช่างสิบหมู่ จ้างช่างปั้นปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ขึ้นแล้ว ให้ลงรักถวาย ทรงปิดทองเป็นส่วนหลวง แต่พระพุทธรูปสองพระองค์ตั้งอยู่เคียงกัน ฝ่ายขวาพระพุทธรูปพระองค์นี้นั้นได้พระราชทานให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่สองพระองค์ คือพระองค์เจ้านภวงษเปนกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ได้ว่ากรมล้อมพระราชวังพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าสุประดิฐเป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ได้ว่ากรมพระคลังมหาสมบัติพระองค์หนึ่ง ปฏิสังขรณ์พระองค์ละพระองค์ เพื่อจะให้เปนพระเกียรติยศสืบไปภายน่า การปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูป ๓ พระองค์นี้เปนอันสัมฤทธิบริบูรณแล้ว ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแลอวยไชยอวยพรไว้แก่เทพยดา มนุศทั้งปวง บันดาที่ได้มายังถ้ำนี้ แลได้เห็นได้นมัสการพระปฏิมารูปทั้ง ๓ พระองค์นี้จงทุกคน แลทรงพระอธิฐานด้วยการพระราชกุศลนี้ว่า ในประจุบันภพนี้ขอให้พระองค์และพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ มีพระชนมายุยืนยาวถาวรปราศจากโรคาทิอุปัทวันตรายทั้งปวง เปนศุขสวัศดีไปสิ้นกาลนาน เพื่อจะได้สมัยกาลโอกาสเปนที่ทรงบำเพญพระราชกุศลต่างๆ เปนอันมาก ในเพลาเมื่อได้มาประสบพบบุญอรุโณภาศ คือ พระพุทธสาศนาแลพระราชศรัทธาแลศิริราชสมบัติ แลขอให้พระราชกุศลนี้จงเปนปัจจัยให้ได้เสดจถึงที่สิ้นสุด ดับแห่งสังสารวัฏทุกขทั้งปวง คือ พระอมฤตยนฤพานนั้นเทอญ มีพระบรมราชโองการให้จารึกคำนี้ไว้ วัน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกโทศก เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาลประจุบันนี้”
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำแผ่นดิน
พระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกัน จำนวน 5 องค์ เป็นพระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ 3-4 กล่าวคือ พระพักตร์สงบนิ่งคล้ายหุ่น มีอุษณีษะ และพระรัศมีเป็นเปลวสูง เม็ดพระศกเล็ก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำเรียวเล็ก พระนาสิกโด่ง แย้มพระโอษฐ์ ปลายตวัดขึ้นเล็กน้อย พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งบนฐานสิงห์ประดับกลีบบัว ที่ผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปเหล่านี้ประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 1-4 และมีข้อความจารึกบนแผ่นหินที่ฐาน โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้1.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชรพระหัถขวาห้อยพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่๑ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราอุณาโลม2.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถขวาพาดพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธเลิศหล้านภาไลยซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๒ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราครุฑยุดนาค3.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๓ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก”ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหาปราสาท4.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหามงกุฎ 5. เป็นพระพุทธรูปปางขอฝนประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มคลุม องค์พระและแท่นฐานทาสีใหม่ จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีจารึกข้อความหรือไม่ รวมทั้งไม่ปรากฏรูปสัญลักษณ์ประจำพระองค์ที่ผ้าทิพย์ จากร่องรอยการก่อฐานและรูปแบบศิลปะขององค์พระพุทธรูปเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นเพิ่มเติมในภายหลังจากการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์แรก
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดช่องแสมสาร
เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีลักษณะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้น องค์เจดีย์ทรงระฆังในผังกลมประกอบด้วยชุดฐานเขียง มีชุดมาลัยเถาเป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นมาเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ ปล้องไฉน ปลี และปลียอดโดยมีลูกแก้วคั่น รูปแบบที่เป็นเจดีย์ทรงระฆังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนตำแหน่งสูงสุดของเนินเขา ซึ่งทำให้มองเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดินเรือผ่านช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี