ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งวิหารสมเด็จ
ปัจจุบันพระที่นั่งวิหารสมเด็จเหลือแต่เพียงส่วนฐานซึ่งก่อด้วยอิฐ หันหนาไปทางทิศตะวันออก ตรงกลางคือส่วนที่เคยเป็นที่ตั้งของพระราชบัลลังก์ มีมุขยาวทางด้านตะวันออกและตะวันตก ด้านเหนือและใต้เป็นมุขสั้นๆ
สถาปัตยกรรมตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์
ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างมีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านสกัด ส่วนผนังแปรเป็นช่องหน้าต่างซึ่งก่อด้านบนแบบทรงโค้งแหลม ชั้นบนมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางผนังแปร มีช่องหน้าต่างเรียงรายทุกด้าน หลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง
สถาปัตยกรรมวิหารพระศรีสรรเพชญ
วิหารพระศรีสรรเพชญตั้งอยู่ด้านหน้าของเจดีย์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาและเครื่องบนต่างๆพังทลายลงจนไม่เหลือร่องรอย แนวผนังเหลือเพียงบางส่วนเผยให้เห็นถึงการใช้ช่องแสงแทนการใช้หน้าต่าง ด้านนอกของผนังด้านข้างมีเสาพาไลกลมรองรับหลังคา ภายในมีฐานชุกชีประดิษฐานพระศรีสรรเพชญและพระพุทธรูปอื่นๆ มีแนวเสากลมรองรับหลังคาอยู่ภายในด้วย
สถาปัตยกรรมวิหารพระสิงห์
วิหารพระสิงห์มีรูปแบบอาคารเช่นเดียวกับวิหารล้านนารุ่นเก่า มีหลังคาซ้อน 3 ชั้นที่ด้านหน้า และ 2ชั้น ที่ด้านหลัง โดยมีตับหลังคาด้านข้าง 2 ตับ โครงสร้างหลังคาเป็นการเข้าเครื่องไม้เพื่อรับน้ำหนักเรียกว่า ม้าต่างไหม โครงสร้างหลังคาประกอบด้วยหน้าจั่ว ป้านลมหรือตัวรวย ซึ่งมีการประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ส่วนหน้าบันประกอบด้วยรวงผึ้งหรือโก่งคิ้วมีลักษณะเป็นแผงไม้ประดับที่ด้านหน้าระหว่างเสา ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุม มีทางเข้าด้านหน้าเป็นทางเข้าหลัก และมีทางเข้าเล็กๆที่ด้านซ้ายและขวาของอาคาร ที่ทางเข้าหลักประดับราวบันไดด้วยปูนปั้นรูปนาคและตัวมอมซึ่งเป็นสัตว์ผสมในจินตนาการ ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถาน
จิตรกรรมวิหารพระสิงห์
ภายในวิหารลายคำมีงานจิตรกรรมที่น่าสนใจของล้านนา แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่จิตรกรรมลายคำซึ่งอยู่เบื้องหลังพระประธาน จิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องสุวรรณหงส์ที่ผนังด้านทิศใต้และจิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องสังข์ทองที่ผนังด้านทิศเหนือซึ่งทั้ง 2 เรื่องมีที่มาจากปัญญาสชาดกสำหรับลายคำเบื้องหลังพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระประธานนั้นเป็นภาพเขียนด้วยทองคำเปลวบนพื้นสีแดง เขียนเป็นภาพกู่หรือปราสาทซึ่งเป็นอาคารหลังคาลาดซ้อนชั้นอันเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนาที่นิยมใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ต่างจากภาคกลางที่ประดิษฐานพระพุทธรูปบนฐานชุกชี ลวดลายประดับอื่นๆ ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะล้านนากับศิลปะจีน ได้แก่ ลายเมฆ ลายมุกไฟ และลายมังกร โดยบางแห่งใช้เทคนิคการปิดทองบนกระดาษปรุลาย