ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระที่นั่งวิหารสมเด็จ

คำสำคัญ : พระราชวังกรุงศรีอยุธยา, พระที่นั่งวิหารสมเด็จ

ชื่อหลักพระราชวังกรุงศรีอยุธยา
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลประตูชัย
อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.358648
Long : 100.558416
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 668048.61
N : 1587958.52
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพระราชฐานชั้นกลาง พระราชวังกรุงศรีอยุธยา

ประวัติการสร้าง

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เช่น ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าพระที่นั่งวิหารสมเด็จสร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าปราสาทอง พ.ศ. 2186 ครั้งนั้นเกิดฟ้าผ่าลงที่ยอดพระมหาปราสาททำให้เกิดเพลิงไหม้ เปลวเพลิงได้ลามไปติดเรือนต่างๆมากถึง 110 เรือน พระที่นั่งมังคลาภิเษกได้ไหม้ลงไปด้วย พระองค์จึงโปรดให้สร้างพระที่นั่งองค์นี้ขึ้นมาใหม่ ใช้เวลา 1 ปีจึงสำเร็จ แล้วพระราชทานนามพระที่นั่งว่า พระที่นั่งวิหารสมเด็จ

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) และฉบับพระราชหัตถเลขา มีข้อความอีกตอนหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2079 ว่า “...ในปีนั้นให้ยกกำแพงพระราชวังออกไป ให้สร้างพระมหาปราสาทพระวิหารสมเด็จ...” จึงยังจำเป็นต้องค้นคว้าต่อไปว่าพระที่นั่งวิหารสมเด็จสร้างขึ้นเมื่อศักราชใดแน่

ล่วงมาถึงรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2285 พระองค์โปรดให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เป็นแม่การบูรณปฏิสังขรณ์พระที่นั่งวิหารสมเด็จ โดยรื้อเครื่องบนของพระที่นั่งลงทำใหม่ ใช้เวลาสิบเดือนจึงสำเร็จ
ประวัติการอนุรักษ์

พระราชวังโบราณได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ในระหว่างปีพ.ศ. 2523 – 2525 ได้มีการขุดแต่งและขุดค้นแนวฐานและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานในบริเวณพระราชวังโบราณ ซึ่งกระทำต่อเนื่องมาถึงพ.ศ. 2526 สภาพโบราณสถานก่อนการขุดแต่งนั้นขอบเขตของพระราชวังถูกรบกวนและทำลายไป การขุดแต่งโบราณสถานได้แบ่งพื้นที่ของพระราชวังออกเป็น 4 ส่วน คือด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้

ต่อมาในปีพ.ศ. 2530 มีการขุดแต่งเนินโบราณสถานด้านทิศตะวันตกของพระราชวังหลวงเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมก่อนทำการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พบโบราณสถาน เช่น พระที่นั่งทรงปืนและโบราณสถานอื่นๆที่กล่าวในเอกสารกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตก และมีการขุดแต่งประตูน้ำอุดมคงคา ซึ่งพบโดยบังเอิญระหว่างตามรากฐานกำแพงพระราชวังชั้นนอกด้านทิศตะวันตก พร้อมกับขุดแต่งบริเวณโดยรอบถังน้ำ และจากการขุดแต่งด้านหลังพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ พบ กำแพง ประตูน้ำ ประตูกำแพง ป้อม แนวอิฐ สะพาน ทางเดิน และรางระบายน้ำ

การขุดแต่งอีกครั้งเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2532 โดยขุดแต่งตำหนักสวนกระต่าย และขุดแต่งประตูชลทิศทวารสาคร พร้อมกับขุดแต่งโบราณสถานเกี่ยวกับท่อประปา

ในปีงบประมาณพ.ศ. 2538 บริษัทสุรศักดิ์ก่อสร้างประมูลได้ทำงานในส่วนการขุดแต่งแนวกำแพงพระราชวังให้ต่อเนื่องกับแนวกำแพงที่ได้มีการบูรณะไว้ก่อน โดยกระทำทางด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือและทิศตะวันตก

ในปีพ.ศ. 2539 มีการขุดแต่งและขุดค้นแนวโบราณสถาน โดยขุดหากำแพงพระราชวังโบราณด้านทิศตะวันออกติดกำแพงวัดธรรมิกราช ทิศเหนือไม่ไกลจากแม่น้ำลพบุรี และทิศตะวันตกไม่ไกลจากคลองท่อ โบราณวัตถุที่พบมีทั้งเศษภาชนะดินเผาทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ องค์ประกอบสถาปัตยกรรม เช่น กระเบื้องดินเผา กระจังดินเผา ยุทธภัณฑ์ เช่น กระสุน หัวลูกศร พระพุทธรูป แม่พิมพ์ เงินตรา เครื่องใช้ต่างๆ ชิ้นส่วนประติมากรรม
ลักษณะทางศิลปกรรม

ปัจจุบันพระที่นั่งวิหารสมเด็จเหลือแต่เพียงส่วนฐานซึ่งก่อด้วยอิฐ หันหนาไปทางทิศตะวันออก ตรงกลางคือส่วนที่เคยเป็นที่ตั้งของพระราชบัลลังก์ มีมุขยาวทางด้านตะวันออกและตะวันตก ด้านเหนือและใต้เป็นมุขสั้นๆ

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระที่นั่งวิหารสมเด็จใช้เป็นตัวแทนการศึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งและพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงลงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย

1. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง กล่าวถึงพระที่นั่งวิหารสมเด็จว่ามียอดเป็นปรางค์ 5 ยอด หลังคามุงด้วยดีบุก ยอดหุ้มดีบุกและปิดทอง มีมุขโถง เหนือมุขโถงมียอดเป็นทรงมณฑป ภายในมุขโถงมีพระแท่น พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีบุษยาภิเษก ถือเป็นหนึ่งในพระที่นั่งที่เป็นหลักเป็นประธานและเป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศกรุงศรีอยุธยา

2. คำให้การชาวกรุงเก่าให้ข้อมูลถึงพระที่นั่งวิหารสมเด็จไว้ว่า มีพระราชบัลลังก์ใหญ่อยู่ข้างใน 1 องค์ มีพระราชบัลลังก์น้อยอยู่ที่มุขเด็จ 1 องค์ ความสูงของพระที่นั่งวิหารสมเด็จเท่าๆกันกับความสูงของพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท และพระที่นั่งสุริยาสมรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่เรียงกัน
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา
อายุพุทธศตวรรษที่ 22-23
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-04-24
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม)

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา

คำให้การชาวกรุงเก่า

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ เอกสารจากหอหลวง

ศิลปากร, กรม. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2511.

รังสี อ่วมทอง และคณะ, “เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องการศึกษาวิจัยหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากโครงการขุดแต่ง, ขุดค้น พระราชวังโบราณ จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 - ปี พ.ศ. 2539”, สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.

ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532.