ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 41 ถึง 48 จาก 61 รายการ, 8 หน้า
พระธาตุพนม
นครพนม
สถาปัตยกรรมพระธาตุพนม

พระธาตุพนมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน องค์ประกอบสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรือนธาตุ และยอดทรงบัวเหลี่ยมเรือนธาตุก่ออิฐไม่ฉาบปูน มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส น่าจะตรงกับที่ตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า อุโมงค์ (อูบมุง) ประดับตกแต่งกึ่งกลางแต่ละด้านด้วยซุ้มประตูหลอก ถัดออกมาสองข้างของซุ้มประตูตกแต่งด้วยเสาหลอกทรงกลม มุมทั้งสี่สลักภาพกนกพรรณพฤกษาและรูปบุคคลขี่พาหนะ ซึ่งได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นรูปพระยาทั้งห้าที่ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 1 ชั้น ถัดไปจากนั้นเป็นยอดบัวเหลี่ยม ส่วนนี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ความสูง 2 ชั้น และ3 ชั้น มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทย ตะวันตก และจีน โครงสร้างหลังคารูปจั่ว มุงกระเบื้องกาบกล้วยดินเผาแบบจีน หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง ส่วนหน้าจั่วพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยเป็นรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง หมู่พระที่นั่งประกอบด้วยห้องโถงหลายห้องมีมุขที่ด้านหน้าขนาบอัฒจันทร์ซึ่งเป็นทางขึ้นอยู่ตรงกลาง อาคารด้านในเป็นอาคารขวาง เป็นท้องพระโรงซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นท้องพระโรงใหญ่สำหรับเสด็จออกว่าราชการ ตอนในเป็นท้องพระโรงเล็ก จากท้องพระโรงมีทางขึ้นไปสูระบียงอัฒจันทร์ชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องบรรทม หมู่พระที่นั่งมีการใช้ซุ้มวงโค้งปลายแหลมและโค้งมนมาใช้ในการประดับอาคารซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทำให้เกิดความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมเดิมที่อยู่ใกล้เคียง

พระมหามณฑป
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระมหามณฑป

เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสาพาไลเพิ่มมุมที่ประดับบัวหัวเสาอยู่โดยรอบอาคาร ตัวอาคารและเสาปิดทองประดับกระจก เครื่องหลังคามีลักษณะเป็นเรือนซ้อนชั้นยอดแหลมในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมแสดงความเป็นเรือนฐานันดรสูง ประกอบด้วยชั้นหลังคาลาดที่มีหน้าจั่วขนาดเล็กซ้อนกัน ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ เหม บัวคลุ่มเถาและปลียอด ประดับกระดิ่งทองเหลืองที่ชายคารอบอาคาร

พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม

พระวิหารหลวงมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานไพทีสูง ด้านหน้าหันทางทิศเหนือ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้มสลับเขียวซ้อนชั้น กรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง มีเสาพาไลย่อมุมรองรับเครื่องหลังคาโดยรอบพระวิหาร เสาพาไลประดับบัวหัวเสาปิดทองประดับกระจกและมีคันทวย หน้าบันเครื่องไม้ปิดทองประดับกระจกรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านหน้าพระวิหารหลวงทางทิศเหนือมีมุขลด เครื่องหลังคาซ้อนชั้น ที่หน้าบันประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ

พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม

รูปแบบพระปรางค์วัดอรุณมีลักษณะที่พัฒนามาจากพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา ส่วนฐานมีลักษณะผายกว้าง ประกอบด้วยชั้นซ้อนลดหลั่น แต่ละชั้นประดับด้วยประติมากรรมพลแบก ฐานลดหลั่นนี้ได้เอนสอบขึ้นไปรองรับเรือนธาตุซึ่งมีจระนำทั้งสี่ด้าน ประดิษฐานรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณแทนการประดิษฐานพระพุทธรูปที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งการประดับรูปพระอินทร์ที่เรือนธาตุนี้นักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระปรางค์มีความเกี่ยวข้องกับเจดีย์จุฬามณีหรืออาจสะท้อนให้เห็นว่าองค์พระปรางค์หมายถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลส่วนยอดของพระปรางค์ประกอบด้วยกลีบขนุนซ้อนชั้น ที่ส่วนบนของจระนำทั้งสี่ด้านประดับด้วยยอดปรางค์ขนาดเล็ก เมื่อนับรวมยอดทั้งหมดจึงเป็น 5 ยอดซึ่งการประดับยอดบริวารเช่นนี้เป็นรูปแบบที่เคยมีมาก่อนในศิลปะอยุธยา

โลหะปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมโลหะปราสาท

โลหะปราสาทเป็นอาคารทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนสูง 3 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับส่วนยอดด้วยโลหะ มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ยอดภายในโลหะปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด เดิมมีแกนกลางหลักเป็นซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาท โดยเจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ต่อมาเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์จึงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

พระบรมบรรพต
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระบรมบรรพต

รูปแบบของบรมบรรพตหรือภูเขาทองที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆังสีทอง ตั้งอยู่บนเนินดินสูงก่อแนวกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้น 2 ทางไปสู่อาคารโถง ซึ่งมีบันไดขึ้นไปยังลานประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ที่อยู่ด้านบนสุด องค์เจดีย์เป็นทรงระฆังศิลปะรัตนโกสินทร์แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ

มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบเก๋งจีน พระที่นั่งก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาทรงอ่อนโค้งมุงกระเบื้องลอนเคลือบและประดับสัญลักษณ์มงคลแบบจีน กลางสันหลังคาประดับรูปมังกรดั้นเมฆ ท้องพระโรงล่างปูกระเบื้องเคลือบจากจีน มีลายรูปสัตว์ ต้นไม้และบุคคลจากเทพปกรณัมจีน คานด้านบนท้องพระโรงติดป้ายอักษรไทยเลียนแบบอักษรจีนว่า เทียนเม่งเต้ย ประดับโดยรอบอาคารด้วยไม้แกะสลักเป็นเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องสามก๊กท้องพระโรงชั้นล่างมีบันไดหินอ่อนสู่พระราชบัลลังก์แบบจีน กลางบันไดมีรูปหยิน-หยาง ด้านหลังมีบันไดขึ้นสู่ท้องพระโรงบนเป็นที่ประดิษฐานพระราชบัลลังก์แบบจีนอีกองค์หนึ่ง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยประดิษฐานอยู่ในพระวิมานเขียนลายแบบจีน ด้านเหนือของพระที่นั่งเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 พระแท่นบรรทมสลักลายหงส์และมังกร อีกห้องเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมีพระแท่นเป็นไม้สลักลายเคลือบสีทองและพระแท่นประดับมุก ด้านใต้เป็นห้องทรงพระอักษรของรัชกาลที่ 5 การตกแต่งภายในพระที่นั่งเป็นแบบจีนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยมใช้เครื่องเรือนที่นิยมในราชวงศ์ชิง