ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ

คำสำคัญ : พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ, พระที่นั่งเก๋งจีน, พระที่นั่งเทียนเม่งเต้ย, พระราชวังบางปะอิน, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, รัชกาลที่ 5

ชื่อเรียกอื่นพระที่นั่งเก๋งจีน, พระที่นั่งเทียนเม่งเต้ย
ชื่อหลักพระราชวังบางปะอิน
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลบ้านเลน
อำเภอบางปะอิน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.2340439
Long : 100.580548
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 670529.66
N : 1574189.1
ตำแหน่งงานศิลปะทิศเหนือของพระราชวังบางปะอิน

ประวัติการสร้าง

สร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2432 โดยมีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) เป็นนายงาน หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) และหลวงโภคานุกุล (จื๋ว) เป็นผู้ควบคุมในการก่อสร้าง และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถม กรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจ เป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้าง

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญได้เริ่มดำเนินการซ่อมแซมในปีพ.ศ. 2534 แล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2536 หลังคาพระที่นั่งได้เปลี่ยนกระเบื้องเป็นสีเดียวกันคือสีเหลือง โดยสั่งทำขึ้นใหม่และคงรูปแบบเดิมไว้ พื้นรองรับหลังคาดำเนินการเทปูนทับแผ่นไม้ ฝ้าเพดานรื้อลงมาซ่อมและเปลี่ยนในส่วนที่ชำรุดทั้งหมด ดำเนินการปั้นปูนประดับหลังคาและเขียนสีขึ้นใหม่ตามแบบเดิม ส่วนพื้นห้องทรงพระอักษรชั้นบน เดิมเป็นปูนและปูพื้นด้วยกระเบื้องกังไสเขียนลายรองรับด้วยไม้แกะสลักลาย ได้ทำการรื้อกระเบื้อง เนื้อปูนและแผ่นไม้ออก ให้ชักร่องหลังไม้ให้ลึกพอประมาณและใช้เหล็กรูป T ฝังลงไปในร่องไม้ให้แข็งแรง จากนั้นจึงปูพื้นกลับไปตามเดิม ใต้ชั้นต่ำของพระที่นั่งส่วนทางเดินด้านในกะเทาะปูนที่หมดอายุออกและทำการฉาบปูนใหม่ทั้งหมด ห้องเล็กได้ทำชั้นเหล็กปูพื้นไม้ไว้จัดของและเก็บกระถางและกี๋สำหรับตั้งต้นไม้ นอกจากนี้ก็ยังเสริมคานรองรับพื้นระเบียงและขัดพื้นทาน้ำมันใหม่ เครื่องเรือนภายในพระที่นั่งได้นำมาทำความสะอาด
ลักษณะทางศิลปกรรม

มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบเก๋งจีน พระที่นั่งก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาทรงอ่อนโค้งมุงกระเบื้องลอนเคลือบและประดับสัญลักษณ์มงคลแบบจีน กลางสันหลังคาประดับรูปมังกรดั้นเมฆ ท้องพระโรงล่างปูกระเบื้องเคลือบจากจีน มีลายรูปสัตว์ ต้นไม้และบุคคลจากเทพปกรณัมจีน คานด้านบนท้องพระโรงติดป้ายอักษรไทยเลียนแบบอักษรจีนว่า เทียนเม่งเต้ย ประดับโดยรอบอาคารด้วยไม้แกะสลักเป็นเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องสามก๊ก

ท้องพระโรงชั้นล่างมีบันไดหินอ่อนสู่พระราชบัลลังก์แบบจีน กลางบันไดมีรูปหยิน-หยาง ด้านหลังมีบันไดขึ้นสู่ท้องพระโรงบนเป็นที่ประดิษฐานพระราชบัลลังก์แบบจีนอีกองค์หนึ่ง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยประดิษฐานอยู่ในพระวิมานเขียนลายแบบจีน

ด้านเหนือของพระที่นั่งเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 พระแท่นบรรทมสลักลายหงส์และมังกร อีกห้องเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมีพระแท่นเป็นไม้สลักลายเคลือบสีทองและพระแท่นประดับมุก

ด้านใต้เป็นห้องทรงพระอักษรของรัชกาลที่ 5 การตกแต่งภายในพระที่นั่งเป็นแบบจีนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยมใช้เครื่องเรือนที่นิยมในราชวงศ์ชิง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระที่นั่งเวหาศจำรูญเป็นพระที่นั่งที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีน พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) เจ้ากรมท่าซ้ายได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างถวายภายในพระราชวังบางปะอิน ซึ่งโปรดใช้เป็นที่ประทับในฤดูหนาว พระที่นั่งองค์นี้มีนามในภาษาจีนว่า เทียน เม่ง เต้ย แปลว่า พระที่นั่งฟ้าสว่าง (เทียน แปลว่า เวหา , เม่ง แปลว่า จำรูญ , เต้ย แปลว่า พระที่นั่ง) เป็นพระที่นั่งองค์สุดท้ายในพระราชวังบางปะอินที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

รูปแบบพระที่นั่งและการประดับตกแต่งด้วยรูปสัญลักษณ์ต่างๆมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะจีน

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-06-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

สำนักพระราชวัง. พระราชวังบางปะอิน. กรุงเทพฯ : สำนักพระราชวัง, 2538.

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. พระราชวังบางปะอิน. กรุงเทพฯ : ศิริมิตรการพิมพ์, 2523.