ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 33 ถึง 40 จาก 61 รายการ, 8 หน้า
สถานีรถไฟกรุงเทพ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟกรุงเทพ

สถานีรถไฟหัวลำโพงนี้เป็นสถานีรถไฟแบบปลายตัน ประกอบด้วยอาคาร 2 ส่วนเชื่อมต่อกัน คือโถงระเบียงหน้าสถานีและโถงชานชาลา โถงระเบียงหน้าออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาญโญในปี พ.ศ. 2455 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 มีผังเป็นรูปตัว E มีมุขกลางขนาดใหญ่มีหลังคาโค้ง ปลายสองด้านเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงยาวชั้นเดียว ใช้เสาไอโอนิครับน้ำหนัก ส่วนโถงชานชาลาสร้างขึ้นก่อนโดยนายเกอร์เบอร์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2455 เป็นอาคารโถงหลังคาโค้งกว้างทำด้วยเหล็ก ผนังด้านหน้ากรุแผ่นกระจกเล็กๆเรียงกัน มีหอคอยสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ปลายปีกทั้งสองด้าน

ตึกแถวถนนหน้าพระลาน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตึกแถวถนนหน้าพระลาน

เป็นอาคารสองชั้น ผังอาคารมีลักษณะเป็นรูปตัว E ขนานไปกับแนวถนน มี 3 มุขคือ มุขกลางและหัวท้ายโดยเชื่อมต่อกันด้วยปีก มีการแบ่งเป็นห้องๆ มุขกลางมี 3 ห้อง มีหน้าบันครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปดอกบัวขนาบด้วยแจกัน คอสองประดับเฟื่องอุบะ ระเบียงชั้นสองมีเสาลอยรับหน้าบัน หน้าต่างโค้งแบบบานแฝดในกรอบวงโค้งคู่กับซุ้มโค้งด้านล่างที่มีชุดบานเฟี้ยม หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีขนาดใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อยอยู่ในอิริยาบถทรงม้า ฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมพลทหารบก ทรงพระคทาจอมพลที่พระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมบังเหียน ม้าพระที่นั่งยืนบนแผ่นโลหะทองบรอนซ์หนาประมาณ 25 เซนติเมตรซึ่งวางอยู่บนแท่นหินอ่อนสี่เหลี่ยมสูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาวประมาณ 5 เมตรครึ่ง รอบแท่นมีเสาล้อมและขึงโซ่ไว้โดยรอบ ตรงฐานมีจารึกแสดงข้อความเฉลิมพระเกียรติที่ด้านหน้า มีชื่อช่างปั้น C.MASSON SEULP 1908 ช่างหล่อ G.Paupg Statuare ทางด้านขวา และบริษัทที่หล่อ SUSSF Fres FONDEURS. PARIS ทางด้านซ้าย

ตำหนักพรรณราย
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตำหนักพรรณราย

ตำหนักพรรณรายเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้นหลังคาจั่ว หน้าบันทรงสามเหลี่ยมมีปูนปั้นรูปวงกลม 3 วงซ้อนกัน ขอบหน้าบันส่วนที่ติดกับหลังคาทำปูนปั้นคล้ายแพรระบาย ตัวอาคารไม่มีชายคา เสารับหลังคามีทั้งแบบเสาสี่เหลี่ยมเรียบและเสากลมที่มีหัวเสาเป็นใบอะแคนธัสและฐานเสาแบบตะวันตก ระหว่างเสามีกันสาดโครงไม้ เหนือช่องหน้าต่างตกแต่งเท้าแขนไม้รูปวงกลม หน้าต่างเป็นแบบบานเกล็ด

ท้องพระโรง วังท่าพระ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมท้องพระโรง วังท่าพระ

ท้องพระโรงเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันด้านแป หรือด้านยาวออกหน้าวัง หลังคงทรงไทยชั้นเดียวมุงกระเบื้องไม่มีมุขลด เครื่องลำยองประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่มีนาคสะดุ้งหน้าบันแบบฝาปะกน มีบันไดใหญ่ทางด้านหน้า ลูกกรงกำแพงแก้วเป็นเหล็กหล่อลวดลายแบบสมัยวิคตอเรียน พื้นภายในเป็นไม้ มีเสาไม้กลมเซาะร่องมีฐานแบบตะวันตกเรียงรายตลอดความยาวของอาคาร ด้านหลังมีโถงทางเดินเชื่อมไปยังตำหนักกลาง

พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
ประจวบคีรีขันธ์
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์

พระที่นั่งตั้งอยู่บนเนินดินใจกลางถ้ำที่มีลักษะโปร่งแสงแดดส่องถึงพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นพระที่นั่งโถงแบบจัตุรมุข โดยมีมุขทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวกว่ามุขด้านตะวันตกและตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระหา หางหงส์

วัดพระแก้วน้อย
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมวัดพระแก้วน้อย

สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดพระแก้วน้อย ได้แก่ พระอุโบสถ และพระสุทธเสลเจดีย์ ส่วนพระอุโบสถเป็นอาคารก่อด้วยหินอ่อนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาประดับกระเบื้องซ้อนชั้น เครื่องลำยองประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ขนาบสองข้างด้วยฉัตร 5 ชั้น พื้นหลังเป็นลายก้านขด ซึ่งเป็นฝีมือช่างเพชรบุรี ผนังพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมลายพรรณพฤกษา ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกประดับลวดลายปูนปั้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระนิรัยตรายจำลองและพระแก้วมรกตจำลองส่วนพระสุทธเสลเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถโดยมีทางเชื่อมต่อขึ้นไปยังฐานประทักษิณรอบองค์เจดีย์ องค์เจดีย์ก่อด้วยหินอ่อนที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดมาจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เรียงต่อกันตามแบบของเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นพระราชนิยม ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระเจดีย์ด้วย

พระปฐมเจดีย์
นครปฐม
สถาปัตยกรรมพระปฐมเจดีย์

พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลมที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบองค์เจดีย์ โดยมีวิหารทิศทั้ง 4 คั่นจังหวะ ได้แก่ วิหารทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปตอนประสูติ วิหารทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนตรัสรู้ วิหารทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปฐมเทศนา และวิหารทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปรินิพพาน องค์พระปฐมเจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานซึ่งเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังขนาดใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนที่มีเสาหาร ปล้องไฉน และปลียอดที่มีลักษณะอ้วนป้อม