ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานบัวที่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆรูปแบบสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ที่ช่วยในการกำหนดอายุและสะท้อนถึงเรื่องราวในอดีตได้ ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏและหยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) สิ่งเหล่านี้สิบต่อมาจากพระพุทธรูปศิลปะเขมรในประเทศไทย ถัดขึ้นไปมีพระเกศาเป็นตุ่มเล็กเปรียบได้กับหนามขนุน พระอุษณีษะทรงครึ่งวงกลม พระรัศมีเปลวไฟ สะท้อนถึงความแตกต่างไปจากศิลปะเขมรในประเทศไทย แต่อาจสัมพันธ์กับศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะการทำพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมใหญ่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์มีขนาดใหญ่และแลดูเทอะทะ

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยสุนทรียภาพที่แสดงถึงอายุสมัยว่าสร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรือระยะแรกสุด ได้แก่ ความสัมพันธ์กับศิลปะเขมรในประเทศไทย ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏ หยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) อย่างไรก็ตามพระพุทธรูปองค์นี้ทำพระอุษณีษะทรงครึ่งวงกลมและพระรัศมีรูปลูกแก้วหรือดอกบัวตูม ซึ่งแตกต่างไปจากพระพุทธรูปศิลปะเขมรในประเทศไทยทั่วไป ลักษณะนี้แสดงถึงการคลี่คลายหรือห่างไกลออกมาจากศิลปะเขมรในประเทศไทยแล้ว ซึ่งอาจช่วยกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ว่าสร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเล็กน้อย หรือสร้างขึ้นระยะแรกสุดของสมัยอยุธยาตอนต้น พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมใหญ่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงไม่ประดับลายสุนทรียภาพที่สัมพันธ์กับศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบบายนหรือหลังบายน ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏ หยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) พระอุษณีษะทรงกรวยแหลมรองรับด้วยแถวกลีบบัว พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง โดยเส้นชายจีวรที่พาดผ่านพระอุระขวาตวัดเป็นเส้นโค้งอาจสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียแบบปาละไม่มากก็น้อย ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์ แลดูใหญ่และเทอะทะ เป็นลักษณะหนึ่งของพระพุทธรูปยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา

สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
รูปแบบปัจจุบันจากส่วนฐานจนกระทั่งส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีลักษณะดังต่อไปนี้ส่วนล่างเป็นฐานประทักษิณสูง ล้อมรอบด้วยระเบียงหรือที่เรียกว่าวิหารทับเกษตร บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณอยู่ทางทิศเหนือซึ่งเป็นด้านที่เชื่อมต่อกับวิหารพระทรงม้า ทำให้บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณตั้งอยู่ภายในวิหารพระทรงม้าไปโดยปริยายผนังของฐานประทักษิณประดับด้วยแนวเสาอิง บนตัวเสาอิงมีพระพุทธรูปยืนขนาบบ้างด้วยพระสาวกอยู่ภายในซุ้ม ระหว่างเสามีช้างเห็นครึ่งตัวอยู่ภายในซุ้มวงโค้งหรือซุ้มหน้านางด้านละ 6 ตัว ยกเว้นทางด้านเหนือมีอยู่ 4 ตัว เพราะต้องเว้นพื้นที่ไว้สำหรับบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ บนลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มีเจดีย์ทรงกลมประจำมุม เจดีย์องค์ใหญ่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดมีองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ประดับด้วยปูนปั้นรูปเสาอิงและเครื่องถ้วย ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรหรือแกนปล้องไฉนซึ่งประดับด้วยเสาหานที่มีรูปพระอัครสาวกตกแต่งอยู่ เรียกกันทั่วไปว่า พระเวียน ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ปัทมบาทและปลีซึ่งหุ้มด้วยทองคำและประดับด้วยอัญมณีมีค่า

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปองค์นี้แสดงปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาปานกลาง พระรัศมีเป็นเปลวไม่สูงมาก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำหรี่เรียวยาวปลายตวัดขึ้น พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์หยักโค้งเป็นคลื่น พระวรกายสมส่วน สังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ยาวไม่เท่ากันและพระดัชนีกระดกขึ้นเล็กน้อยพระพุทธรูปองค์นี้มีจารึกอักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์กำกับว่า “สังคโลก” เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 แสดงว่าพระพุทธ์รูปองค์นี้ถูกอัญเชิญลงมาจากสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัยในคราวที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากสุโขทัย

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะเด่นซึ่งเป็นแบบแผนของพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ได้แก่ พระพักตร์เป็นวงรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์งามสมส่วน เม็ดพะศกใหญ่ขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุณีษะนูน พระรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กและยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นริ้วดังที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ ที่ฐานมีจารึกสมัยสุโขทัยระบุชื่อและความปรารถนาของผู้สร้าง

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย จุดสังเกตหลักที่แสดงความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง อันเป็นเหตุผลให้กำหนดเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหมวดวัดตะกวน ได้แก่ พระพักตร์กลมและคางนูนเป็นปม สำหรับส่วนอื่นๆ ที่แสดงความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ทั่วไป ได้แก่ พระรัศมีเปลวไฟ ทั้งนี้แลดูแข็งกระด้างกว่าพระรัศมีในศิลปะสุโขทัย ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือชายสังฆาฏิพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายเป็นริ้วซึ่งนิยมเรียกว่าเขี้ยวตะขาบ ขัดสมาธิราบ นั่งบนฐานหน้ากระดาน

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย พระพักตร์กึ่งกลมกึ่งรีอาจแสดงถึงการคลี่คลายระหว่างพระพักตร์กลมแบบพระพุทธรูประยะแรกกับพระพักตร์วงรูปไข่แบบหมวดใหญ่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สมส่วน เม็ดพระศกเล็ก พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือสังฆาฏิที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายมีรูปแบบพิเศษ กล่าวคือ ทำริ้วจีวรซ้อนทับกันตลอดแนว แตกต่างไปจากพระพุทธรูปหมวดใหญ่ทั่วไปที่ทำเป็นจีวรสี่เหลี่ยมที่มีหยักริ้วเพียงส่วนปลาย