ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
คำสำคัญ : วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย, พระพุทธรูปปางมารวิชัย, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | เมืองเก่า |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | สุโขทัย |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 17.018304 Long : 99.707273 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 575278.74 N : 1881715.86 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง |
ประวัติการสร้าง | ไม่ทราบประวัติการสร้างที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัด แต่ปัจจุบันเชื่อกันว่าเจดีย์วัดช้างล้อมศรีสุชนาลัยน่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพระยาลิไท พระพุทธรูปองค์นี้ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มจระนำที่อยู่บริเวณลานประทักษิณก็น่าจะสร้างขึ้นราวเดียวกันนี้ |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ปูนปั้น |
ประวัติการอนุรักษ์ | ค้นพบจากเจดีย์วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย พระพักตร์กึ่งกลมกึ่งรีอาจแสดงถึงการคลี่คลายระหว่างพระพักตร์กลมแบบพระพุทธรูประยะแรกกับพระพักตร์วงรูปไข่แบบหมวดใหญ่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สมส่วน เม็ดพระศกเล็ก พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือสังฆาฏิที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายมีรูปแบบพิเศษ กล่าวคือ ทำริ้วจีวรซ้อนทับกันตลอดแนว แตกต่างไปจากพระพุทธรูปหมวดใหญ่ทั่วไปที่ทำเป็นจีวรสี่เหลี่ยมที่มีหยักริ้วเพียงส่วนปลาย |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | ค้นพบที่วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย อาจเป็นตัวอย่างพระพุทธรูปที่แสดงการคลี่คลายจากสุโขทัยรุ่นแรกที่นิยมทำพระพักตร์กลมไปสู่สุโขทัยหมวดใหญ่ที่ทำพระพักตร์เป็นวงรูปไข่ นอกจากนี้ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายทำทบซ้อนกัน แสดงความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปที่พบในเมืองน่าน และอาจเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปทางภาคใต้ด้วย เป็นหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับบ้านเมืองต่างๆ ได้อย่างดี |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | สุโขทัย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 20 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนา |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรซ้อนทับกันเช่นพระพุทธรูปองค์นี้มีไม่มากนัก ที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูปลีลาปูนปั้นที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง พระพุทธรูปปางมารวิชัยวัดกอก จังหวัดน่าน ทั้ง 2 องค์นี้จัดได้ว่าเป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัยหมวดใหญ่ได้ ทั้งนี้นักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าชายจีวรซ้อนทับกันเช่นนี้ปรากฏมาก่อนในพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะศรีวิชัยตอนปลาย ค้นพบที่วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และกลายเป็นแบบแผนหนึ่งของพระพุทธรูปสกุลช่างภาคใต้ในระยะต่อมา เช่นที่พบจากพระพุทธรูปภายในพระระเบียงคดล้อมรอบพระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-09-30 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. |