ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 65 ถึง 72 จาก 182 รายการ, 23 หน้า
ฐานธรรมจักร
นครปฐม
ประติมากรรมฐานธรรมจักร

ฐานรับธรรมจักรนี้ชำรุดเสียหายมาก ทำจากหิน มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมที่เจาะทะลุจากตรงกลางจากบนลงล่าง ทำหน้าที่ยึดตรึงองค์ธรรมจักรกับเสาไว้ด้วยกัน ด้านทั้งสี่สลักภาพพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาเหมือนกัน แต่แตกหักเสียหายมาก มีเพียงด้านเดียวที่เหลือรายละเอียดมากพอจะศึกษาได้ พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา เบื้องล่างด้านซ้ายของพระองค์เป็นนักบวชพราหมณ์ 5 คน เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์ก่อนบวช ด้านขวาของพระองค์เป็นพระสงฆ์ 5 รูป เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์หลัง ถัดขึ้นไปทั้งด้านขวาและซ้ายเป็นภาพบุคคลที่เชื่อว่าเป็นเทวดาและพรหม

พระพุทธรูป
นครราชสีมา
ประติมากรรมพระพุทธรูป

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายนี้เหลือเพียงพระบาทและฐานบัวเท่านั้น หินทรายส่วนพระบาทเป็นผังสี่เหลี่ยม สลักเชื่อมติดกับฐานหน้ากระดานและมีเดือยยาว ส่วนหินทรายส่วนฐานบัวเป็นผังกลม มีจารึกอยู่ที่ขอบล่าง กึ่งกลางฐานบัวสลักเป็นช่องสี่เหลี่ยมเพื่อรับพระบาท

เศียรพระพุทธรูป
ราชบุรี
ประติมากรรมเศียรพระพุทธรูป

เศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีเค้าพระพักตร์แป้น พระนลาฏกว้าง พระขนงนูนเป็นสันและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะเป็นต่อมนูน มีช่องเจาะอยู่ที่กลางพระอุษณีษะ สันนิษฐานว่าเดิมทีเคยมีพระรัศมีที่ทำจากอัญมณีหรือหินมีค่าประกอบไว้ นอกจากนี้อาจเคยเป็นช่องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานกลีบบัวหงายและชุดฐานบัวยกเก็จ รูปแบบโดยรวมสะท้อนแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปล้านนาแบบสิงห์หนึ่ง ลักษณะเด่นได้แก่ พระพักตร์กลม พระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิขนาดเล็กพาดผ่านพระอังสาซ้าย ปลายอยู่เหนือพระถันหยักโค้งไปมา เรียกกันว่าแบบเขี้ยวตะขาบ

พระพุทธรูปทรงเครื่อง
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงเครื่อง

พระพุทธรูปขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานบัว สวมเครื่องปะดับจำนวนมากนิยมเรียกกันว่าพระทรงเครื่องใหญ่ พระเศียรทรงมงกุฏ ประดับกรรเจียกจร พระกุณฑลทรงตุ้มแหลม พระวรกายประดับด้วยกรองศอ ทับทรวง และสังวาล พระพาหาประดับพาหุรัด และมีกำไลข้อพระกร กำไลข้อพระบาท

พระพุทธรูปทรงเครื่อง
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงเครื่อง

พระพุทธรูปยืนตรง พระหัตถ์ยกขึ้นและหันฝ่าพระหัตถ์ออก เรียกว่า ปางประทานอภัย หรือเรียกอีกอย่างว่าปางห้ามสมุทร ครองจีวรห่มคลุม บางแนบพระวรกาย แลเห็นแถบรัดประคด (รัดเอว) และชายสบงที่ทำเป็นแถบหน้านางตกลงมาระหว่างกลางพระชงฆ์พระพักตร์ค่อนข้างกลมตามแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนกลาง สวมกุณฑลทรงตุ้ม สวมมงกุฏที่ประกอบด้วยกระบังหน้าและรัดเกล้าทรงกรวย รูปทรงกระบังหน้าสืบทอดมาจากกระบังหน้าของเทวรูปศิลปะสุโขทัยอันมีต้นแบบมาจากศิลปะเขมร ส่วนรัดเกล้ากรวยทำเหมือนวงแหวนซ้อนชั้น ปรากฏมาก่อนในศิลปะสุโขทัยเช่นกัน โดยรับมาจากศิลปะลังกาอีกทอดหนึ่ง มียอดแหลมขนาดเล็กรอบรัดเกล้ากรวยคติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องโยงกับเรื่องราวที่ปรากฏในชมพูบดีสูตร กล่าวถึงพระพุทธเจ้าแสดงพระองค์เป็นพระจักรพรรดิราชที่ยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาชมพูเพื่อคลายทิฏฐิมานะ จนท้าวมหาชมพูเลื่อมใสแล้วออกบวชปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

พระพุทธรูปทรงเครื่อง
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงเครื่อง

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นหันฝ่าพระพระหัตถ์ออกทางด้านหน้า เรียกว่าแสดงปางประทานอภัย หรือปางห้ามสมุทร สวมมงกุฎที่มีแต่กระบังหน้า ไม่มีรัดเกล้ากรวย จึงเห็นพระอุษณีษะและพระรัศมีชัดเจน ทั้งยังไม่ปรากฏเครื่องทรงอื่นใดอีก จึงจัดว่าเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม บางแนบพระวรกาย แลเห็นรัดประคด (สายรัดเอว) และสบงที่ทำตรงกลางตกลงมาเป็นแถบหน้านางพุทธลักษณะโดยรวมเป็นแบบอยุธยาตอนกลางที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ศิลปะสุโขทัย เช่น พระพักตร์วงรูปไข่ พระขนงโค้งโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กสมส่วน กระบังหน้ามีรูปแบบที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์กับเทวรูปในศิลปะสุโขทัยซึ่งมีต้นแบบดั้งเดิมมาจากกระบังหน้าในศิลปะลพบุรีอีกทอดหนึ่ง โดยกระบังหน้าประดับด้วยชั้นลวดลาย กึ่งกลางเป็นลายประจำยาม แนวขอบล่างของกระบังหน้าหยักแหลมลงตรงกลางล้อไปตามความโก่งโค้งของพระขนง และหยักแหลมบริเวณขมับ

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระนครศรีอยุธยา
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานบัวที่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆ รูปแบบในภาพรวมสะท้อนถึงการสืบต่อจากพระพุทธรูปรุ่นก่อนกรุงศรีอยุธยา-อยุธยาตอนต้น หรือพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในศิลปะสุโขทัยด้วยรูปแบบสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ที่สืบต่อจากพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ได้แก่ นั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงๆ เม็ดพระศกเทียบได้ดังหนามขนุน ส่วนความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัยเห็นได้จากพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระพักตร์วงรูปไข่ พระขนงโก่งโค้ง แม้มีไรพระศกเช่นพระพุทธรูปอู่ทอง แต่การหยักแหลมที่กึ่งกลางพระนลาฏล้อตามความโก่งโค้งของพระขนงและบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) ไม่หยักแหลม ย่อมสัมพันธ์กับแนวพระเกศาในพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายตัดตรง พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์มีความอ่อนช้อยกว่าพระพุธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัย