ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธรูปทรงเครื่อง

คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา, พระพุทธรูปทรงเครื่อง, พระพุทธรูปปางประทานอภัย, พระมงคลบพิตร

ชื่อเรียกอื่นพระพุทธรูปปางประทานอภัย
ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.350887
Long : 100.561788
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 668418.08
N : 1587102.32
ตำแหน่งงานศิลปะจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ประวัติการสร้าง

ไม่พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรระบุศักราชการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้โดยตรง แต่จากรูปแบบศิลปกรรมที่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยแบบอยุธยาตอนกลาง และการค้นพบในพระอุระของพระองคลบพิตรที่สร้างขึ้นในช่วงอยุธยาตอนกลางเช่นกัน จึงทำให้กำหนดอายุการสร้างไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 21-22

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อสำริด ปิดทองคำเปลว

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธรูปยืนตรง พระหัตถ์ยกขึ้นและหันฝ่าพระหัตถ์ออก เรียกว่า ปางประทานอภัย หรือเรียกอีกอย่างว่าปางห้ามสมุทร ครองจีวรห่มคลุม บางแนบพระวรกาย แลเห็นแถบรัดประคด (รัดเอว) และชายสบงที่ทำเป็นแถบหน้านางตกลงมาระหว่างกลางพระชงฆ์

พระพักตร์ค่อนข้างกลมตามแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนกลาง สวมกุณฑลทรงตุ้ม สวมมงกุฏที่ประกอบด้วยกระบังหน้าและรัดเกล้าทรงกรวย รูปทรงกระบังหน้าสืบทอดมาจากกระบังหน้าของเทวรูปศิลปะสุโขทัยอันมีต้นแบบมาจากศิลปะเขมร ส่วนรัดเกล้ากรวยทำเหมือนวงแหวนซ้อนชั้น ปรากฏมาก่อนในศิลปะสุโขทัยเช่นกัน โดยรับมาจากศิลปะลังกาอีกทอดหนึ่ง มียอดแหลมขนาดเล็กรอบรัดเกล้ากรวย

คติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องโยงกับเรื่องราวที่ปรากฏในชมพูบดีสูตร กล่าวถึงพระพุทธเจ้าแสดงพระองค์เป็นพระจักรพรรดิราชที่ยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาชมพูเพื่อคลายทิฏฐิมานะ จนท้าวมหาชมพูเลื่อมใสแล้วออกบวชปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้ค้นพบภายในอุระพระมงคลบพิตรร่วมกันกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ทั้งนี้พระมงคลบพิตรควรสร้างขึ้นก่อนรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม หรือสมัยอยุธยาตอนกลาง เมื่อตรวจสอบกับพระพุทธรูปอื่นๆที่พบร่วมกันล้วนมีอายุอยู่ในราวอยุธยาตอนกลางได้ จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าพระพุทธรูปสวมเครื่องทรงน้อยชิ้นเช่นนี้เป็นงานในสมัยอยุธยาตอนกลาง

นอกจากนี้ยังเป็นหลักฐานของประเพณีการบรรจุพระพุทธรูปขนาดเล็กไว้ในพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด
อายุพุทธศตวรรษที่ 21-22
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนา
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

พระพุทธรูปองค์นี้มีรูปแบบของมงกุฏเทียบได้กับมงกุฏของเทวดาบนบานประตูไม้ที่พบจากวัดพระศรีสรรเพชญ์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2550.