ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรง สวมมงกุฎทรงกระบอกหรือกิรีฏมกุฏ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดของพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในดินแดนไทยพระองค์มี 4 พระกรตามแบบแผนทางประติมานวิทยาของพระวิษณุ พระกรขวาหน้าแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ขวาหลังถือตะบอง พระหัตถ์ซ้ายหน้าถือสังข์ในระดับพระโสณี (สะโพก) พระหัตถ์ซ้ายหลังหักหายซึ่งแต่เดิมควรถือจักร ท่าทางและการถือสิ่งของในตำแหน่งข้างต้นนี้มีมาก่อนแล้วในรูปพระวิษณุในศิลปะอินเดียภาคเหนือรุ่นก่อนพุทธศตวรรษที่ 10 พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย ช่วงล่างสวมผ้านุ่งยาวหรือที่เรียกว่า “โธตี” บางแนบพระวรกายจนเห็นสรีระภายใน มีชายผ้าคาดพระโสณี (สะโพก) รูปวงโค้งพาดผ่านเหนือพระอุรุ (ต้นขา) ลักษณะเช่นนี้เทียบได้กับศิลปะอินเดียภาคใต้ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 10
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปนาคปรกหล่อจากสำริดองค์นี้สามารถแยกออกจากกันเป็น 3 ส่วน ได้แก่ องค์พระพุทธรูป เศียรนาค และขนดนาคพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัย นับว่าเป็นสิ่งผิดปกติเพราะโดยทั่วไปเมื่อเป็นพระพุทธรูปนาคปรกจะทำปางสมาธิ รูปแบบพิเศษอันเป็นลักษณะของสกุลช่างไชยาซึ่งเห็นในพระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างขึ้นภายหลังด้วย ได้แก่ พระอุษณีษะอยู่ในทรงครึ่งวงกลม เรียบไม่ตกแต่งด้วยขมวดพระเกศา มีแผงสามเหลี่ยมซึ่งเดิมทีคงเคยมีอัญมณีประดับอยู่ทางด้านหน้า ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภีเป็นแถบสี่เหลี่ยมซ้อนทับกันหลายชั้น เศียรนาค 7 เศียรรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมหรือใบโพธิ์ เศียรกลางใหญ่ที่สุด เศียรด้านข้างข้างละ 3 เศียรมีขนาดเล็กกว่าและหันขึ้นสู่เศียรกลาง ทั้งหมดชิดติดกันเป็นแผง เทียบได้กับเศียรนาคปรกในศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยสมัยเมืองพระนคร เช่นแบบนครวัดและแบบบายน ขนดนาค 3 ชั้น เทียบได้กับขนดของพระพุทธรูปนาคปรกในศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยสมัยเมืองพระนครเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะแบบนครวัด โดยลักษณะดังกล่าวคือ นาคแต่ละขนดมีขนาดไม่เท่ากัน ขนดบนใหญ่ที่สุดจากนั้นจึงไล่ลำดับลงสู่ขนดล่างที่มีขนาดเล็กที่สุด ทำให้ขนดทั้ง 3 ชั้นเป็นทรงสอบ นอกจากนี้เหนือขนดนาคชั้นบนมีฐานกลีบบัวรองรับพระพุทธรูป
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์องค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรง มีแปดกรแต่ทุกพระกรเหลือเพียงช่วงบนเท่านั้น พระวรกายช่วงล่างตั้งแต่พระชานุลงไปหักหายหมดแล้วเช่นกันพระพักตร์อวบอิ่ม เครื่องประกอบพระพักตร์งามสมส่วน เปลือกพระเนตรปิดลงครึ่งหนึ่ง สวมมงกุฎที่ประดับด้วยกลุ่มเพชรพลอยทรงสามเหลี่ยม มวยพระเกศาทรงกระบอก มีรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะที่อยู่ภายในกรอบวงกลมประดับอยู่กึ่งกลางมวยพระเกศา ปลายพระเกศาเป็นลอนสยายปะพระอังสา สวมเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ ยัชโญปวีตที่ทำจากผ้า ยัชโญปวีตนี้ซ้อนทับโดยสังวาลไข่มุกประดับเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กรองศอมี 2 เส้น เส้นบนเป็นดั่งเม็ดไข่มุก เส้นล่างเป็นดั่งเครื่องประดับลายเพชรพลอย มีพาหุรัดประดับลายเพชรพลอย ในภาพรวมพระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ชี้ให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กับศิลปะชวาภาคกลางมากกว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ไม่ปรากฏทั้งในศิลปะปาละและศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจหมายความว่าหล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์ที่ซ้อนทับด้วยสังวาลเพชรพลอย
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ประติมากรรมนี้อยู่ในสภาพชำรุด เหลือเพียงพระเศียรและพระวรกายส่วนบนที่แสดงอาการเอียงตนหรือตริภังค์ ในขณะที่มวยพระเกศา พระกรทั้งสองข้าง และพระวรกายส่วนล่างชำรุดสูญหายไปแล้วพระพักตร์อวบอิ่ม เครื่องประกอบพระพักตร์งามสมส่วน เปลือกพระเนตรปิดลงครึ่งหนึ่ง มีพระอุณาโลมที่พระนลาฏ สวมมงกุฎที่ประดับด้วยกลุ่มเพชรพลอยทรงสามเหลี่ยม มวยพระเกศาที่เคยมีอยู่ทางด้านบนได้หักหายไปแล้ว เหลือแต่พระเกศาเป็นลอนสยายปะพระอังสา สวมเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์โดยสังเกตได้จากหัวเลียงผาที่อยู่บริเวณพระอังสาซ้าย ยัชโญปวีตนี้ซ้อนทับโดยสังวาลไข่มุกประดับเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กรองศอมี 2 เส้น เส้นบนเป็นดั่งเม็ดไข่มุก เส้นล่างเป็นดั่งเครื่องประดับลายเพชรพลอยที่มีสายอุบะห้อยระย้า มีพาหุรัดประดับลายเพชรพลอย ในภาพรวมพระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดที่ไม่ปรากฏทั้งในศิลปะปาละและศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจหมายความว่าหล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์ที่ซ้อนทับด้วยสังวาลเพชรพลอย
ประติมากรรมพระพิมพ์
พระพิมพ์ดินดิบเหล่านี้ค้นพบจากหลากพื้นที่ในบริเวณภาคใต้ของไทย มีลักษณะเป็นก้อนกลม ส่วนบนยื่นแหลมเล็กน้อย บางองค์อาจทำส่วนล่างยื่นแหลมด้วย ประทับรูปพระโพธิสัตว์ หรือทิพยบุคคลอื่นๆ ไว้ตรงกลาง เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 21 กร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ท้าวกุเวรหรือท้าวชัมภละ พระพิมพ์แบบนี้ได้ค้บพบอยู่ตามดินแดนที่นับถือพุทธศาสนามหายาน โดยเพาะอย่างยิ่งราชวงศ์ปาละในประเทศอินเดีย และราชวงศ์ไศเลนทร์ในเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านเครือข่ายการนับถือพุทธศาสนามหายาน
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายซึ่งวางอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมที่ประดับรูปสิงห์อยู่ที่มุม เบื้องหลังเป็นประภามณฑลวงกลม พื้นที่ตรงกลางเจาะโปร่ง ขอบนอกประดับด้วยลายดอกไม้กลมและลายเปลวเพลิง ด้านบนมีฉัตร
ประติมากรรมพระพุทธรูป
พระพุทธรูปอยู่ในสภาพชำรุด พระพักตร์ชำรุดบางส่วน พระกรขวาและพระวรกายตั้งแต่พระชานุ (เข่า) ลงไปสูญหาย พระพุทธรูปยืนตรง พระเกศาขมวดเป็นก้นหอย พระอุษณีษะนูนแต่เพียงเล็กน้อย ทั้งสองสิ่งข้างต้นนี้ทำให้นึกถึงพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบอมราวดีที่น่าจะเป็นต้นแบบ ครองจีวรห่มเฉียง หนา มีแนวชายจีวรหนาพาดผ่านจากด้านล่างสู่ข้อพระกรซ้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงพระพุทธรูปอินเดียแบบอมราวดีเช่นกัน ทว่าจีวรกลับเรียบไม่มีริ้วอันแตกต่างไปจากพระพุทธรูปอมราวดีที่ทำริ้วเสมอ พระหัตถ์ขวากำและยกขึ้นระดับพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์เข้าสู่พระองค์
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นอาคารโรง ก่ออิฐถือปูน ชั้นเดียว ขนาด 10 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฝากั้นทึบทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้ามีระเบียง เสาระเบียงและเสาในอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลา หลังคาพระที่นั่งประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับรูปเทพนมประทับบนฐานบัวแกมช่อกระหนกเปลว ปิดทองประดับกระจก