ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระพุทธรูปนาคปรก
คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พระพุทธรูปนาคปรก
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.7576 Long : 100.492222 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661329.97 N : 1521418.09 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประวัติการสร้าง | ปรากฏจารึกที่ฐานว่า ผู้รักษาเมืองครหิได้หล่อขึ้นภายใต้พระบรมราชโองการของพระเจ้าศรีมัตไตรโลกยราชภูษนวรรมเทวะ เมื่อ พ.ศ.1726 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | หล่อสำริด |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระพุทธรูปนาคปรกหล่อจากสำริดองค์นี้สามารถแยกออกจากกันเป็น 3 ส่วน ได้แก่ องค์พระพุทธรูป เศียรนาค และขนดนาค พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัย นับว่าเป็นสิ่งผิดปกติเพราะโดยทั่วไปเมื่อเป็นพระพุทธรูปนาคปรกจะทำปางสมาธิ รูปแบบพิเศษอันเป็นลักษณะของสกุลช่างไชยาซึ่งเห็นในพระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างขึ้นภายหลังด้วย ได้แก่ พระอุษณีษะอยู่ในทรงครึ่งวงกลม เรียบไม่ตกแต่งด้วยขมวดพระเกศา มีแผงสามเหลี่ยมซึ่งเดิมทีคงเคยมีอัญมณีประดับอยู่ทางด้านหน้า ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภีเป็นแถบสี่เหลี่ยมซ้อนทับกันหลายชั้น เศียรนาค 7 เศียรรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมหรือใบโพธิ์ เศียรกลางใหญ่ที่สุด เศียรด้านข้างข้างละ 3 เศียรมีขนาดเล็กกว่าและหันขึ้นสู่เศียรกลาง ทั้งหมดชิดติดกันเป็นแผง เทียบได้กับเศียรนาคปรกในศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยสมัยเมืองพระนคร เช่นแบบนครวัดและแบบบายน ขนดนาค 3 ชั้น เทียบได้กับขนดของพระพุทธรูปนาคปรกในศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยสมัยเมืองพระนครเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะแบบนครวัด โดยลักษณะดังกล่าวคือ นาคแต่ละขนดมีขนาดไม่เท่ากัน ขนดบนใหญ่ที่สุดจากนั้นจึงไล่ลำดับลงสู่ขนดล่างที่มีขนาดเล็กที่สุด ทำให้ขนดทั้ง 3 ชั้นเป็นทรงสอบ นอกจากนี้เหนือขนดนาคชั้นบนมีฐานกลีบบัวรองรับพระพุทธรูป |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระพุทธรูปองค์นี้มีจารึกที่ฐานระบุศักราชการสร้างไว้เมื่อ พ.ศ.1726 โดยผู้รักษาเมืองเมืองครหิ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชื่อเดิมของเมืองไชยา ภายใต้พระบรมราชโองการของพระเจ้าศรีมัตไตรโลกยราชภูษนวรรมเทวะ ในด้านรูปแบบแสดงให้เห็นถึงลักษณะของท้องถิ่นที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสกุลช่างไชยา ขณะเดียวกันแสดงให้เห็นถึงลักษณะของนาคปรกในศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทย อาจแสดงให้เห็นถึงบทบาทของวัฒนธรรมเขมรที่อาจมาจากภาคกลางได้แผ่ไปยังภาคใต้ผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนา |
ข้อสังเกตอื่นๆ | จารึกที่ฐานพระพุทธรูปมี 5 บรรทัด เขียนเป็นภาษาเขมร อักษรกวิ แปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ดังนี้ 1. ศักราช 1105 (พ.ศ.1726) เถาะนักษัตร มีพระราชโองการกัมรเดงอัญ มหาราช ศรีมัตไตรโลกยราชเมาลิภูษณวรรมเทวะ ขึ้น ๓ ค่ำ 2. เชฏฐมาส (เดือน 7) วันพุธ ใหมหาเสนาบดีตลาไน ผู้รักษาเมืองครหิ อาราธนา มรเตง ศรีญาโน ใหทํา 3. (พระพุทธรูป) ปฏิมากรนี้ สําริด มีน้ำหนัก 1 ภาระ 2 ตุละ ทองคํา (ที่ปด) มีราคา 10 ตําลึง สถาปนา 4. (พระพุทธรูปนี้) ใหมหาชนท ั้งปวงผูมีศรัทธาอนุโมทนาแลบูชา นมัสการอยูที่นี่ เพื่อจะไดถึงสรรเพ็ชญาณ 5. …….. |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 18 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนา |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-09-30 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528. พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2523. ศิลปากร, กรม. จารึกในประเทศไทยเล่ม 4 อักษรขอมพุทธศตวรรษที่ 17-18. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529. |