ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 8 รายการ, 1 หน้า
พระพิมพ์ดินเผา
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพิมพ์ดินเผา

พระพิมพ์ทรงคล้ายสามเหลี่ยม ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปนาคปรก เบื้องขวาของพระองค์เป็นบุรุษเชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เบื้องขวาของพระองค์เป็นสตรีเชื่อว่าเป็นพระนางปรัชญาปารมิตา มีกรอบคดโค้งทำนองเรือนแก้วล้อมรอบประติมากรรมทั้งสาม เบื้องล่างรองรับด้วยเป็นฐานบัว

พระพุทธรูปนาคปรก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทำปางสมาธิ ประทับอยู่บนขนดนาค เบื้องหลังมีพังพานนาคปรกไว้พระพักตร์เหลี่ยม สวมเครื่องทรงมากชิ้น ได้แก่ กุณฑลทรงตุ้มแหลม กระบังหน้าและรัดเกล้ากรวยอันประกอบด้วยชั้นลดหลั่นของแถวกลีบบัว เป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของพระพุทธรูปศิลปะเขมรแบบบายน สวมกรองศอ พาหุรัด ทองพระกร แม้ว่าพื้นที่ระหว่างพระกรกับพระวรกายจะเจาะทะลุทำให้เกิดความรู้สึกว่าเปล่าเปลือย อันเป็นลักษณะเด่นของพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ทว่ากลับปรากฏขอบจีวรเฉวียงพระอุระและชายจีวรสี่เหลี่ยมพาดอยู่บนพระอังสาซ้าย ภายในพระหัตถ์ขวามีตลับกลมวางอยู่ ขนดนาครองรับพระพุทธองค์มี 3 ชั้น ชั้นบนมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นจึงลดหลั่นขนาดลงตามลำดับ ตกแต่งลวดลายคล้ายเกร็ดงู นาคมี 7 เศียร รูปทรงดังสามเหลี่ยมหรือใบโพธิ์ เศียรกลางใหญ่ที่สุด เศียรด้านข่างทั้งหกมีขนาดเท่ากันโดยหันขึ้นหาเศียรกลาง

พระพุทธรูปนาคปรก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบอยู่เหนือขนดนาค พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระพักตร์สี่เหลี่ยม สีพระพักตร์เข้มขรึม พระเนตรเบิกโพรง สวมมงกุฎอันประกอบด้วยกระบังหน้าและรัดเกล้ากรวย สวมกุณฑลทรงตุ้มแหลมพระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือยสังเกตได้จากการปรากฏช่องทะลุระหว่างพระปรัศว์ (สีข้าง) กับพระกรทั้งสองข้าง ขณะเดียวกันก็ปรากฏลายเส้นสลักลึกเป็นรอยจีวรแบบห่มเฉียงและสังฆาฏิสี่เหลี่ยมใหญ่ เข้าใจว่าอาจสลักเพิ่มเติมภายหลัง พระวรกายช่วงล่างครองสบง นาคปรกเบื้องหลังพระเศียรอยู่ในโครงคล้ายใบโพธิ์ มี 7 เศียรโดยเศียรกลางมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะที่เศียรด้านข้างข้างละ 3 เศียรมีขนาดเล็กกว่า ทั้งหมดหันหน้าเข้าหาเศียรกลาง ขนาดนาคที่รองรับพระพุทธองค์มี 3 ขนด โดยขนดบนมีความกว้างและหนาที่สุด จากนั้นจึงลดหลั่นขนาดลงมาทำให้เส้นรอบนอกเป็นทรงสอบ

พระพุทธรูปนาคปรก
นครราชสีมา
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งทำปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ พระชงฆ์คมเป็นสันดังมนุษย์จริง ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบพระวรกาย ไม่มีริ้ว พระพักตร์สงบ พระเนตรปิด แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนเพียงเล็กน้อย ขนดนาคที่รองรับพระพุทธเจ้ามี 3 ขนด มีพังพานนาคหลายเศียรปกอยู่ทางด้านหลัง

ใบเสมา
ขอนแก่น
ประติมากรรมใบเสมา

ใบเสมาแผ่นแบน ยอดแหลม สลักลายกลีบบัวที่ด้านล่าง ด้านหน้าเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนเสวยวิมุตติสุขสัปดาห์ที่ 6 หรือตอนาคปรก ส่วนบนสลักภาพพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิแบบหลวมอยู่เหนือขนดนาคที่ซ้อนกัน 4 ชั้น พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรม เหนือพระเศียรมีหัวนาค 5 หัวปรกอยู่ เบื้องหลังเป็นต้นไม้ซึ่งคงหมายถึงต้นมุจลินท์หรือต้นจิก เบื้องล่างทางด้านซ้ายของพระองค์ปรากฏภาพบุคคลสวมเครื่องทรงมากนั่งทำท่านอบน้อม อาจหมายถึงพระยานาคมุจลินท์ที่แปลงกายเป็นมนุษย์มาเฝ้าพระองค์ อีกบุคคลหนึ่งทางด้านขวาของพระองค์ทำท่าประนมกร คงหมายถึงผู้ติดตาม

พระพุทธรูปนาคปรก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก

พระพุทธรูปนูนสูงองค์นี้ทำเป็นปางนาคปรก พระพุทธองค์นั่งทำปางสมาธิอยู่เหนือขนดนาค ครองจีวรห่มเฉียง เรียบ บางแนบเนื้อ มีชายจีวรอยู่เหนือพระอังสาขวา นาคมี 7 เศียร ปกอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า ใบหน้าละม้ายคล้ายลิงอันเป็นลักษณะเด่นของนาคแบบทวารวดี สองข้างของพระพุทธรูปสลักรูปเจดีย์ทรงกลมข้างละ 1 องค์ ถัดลงมาเบื้องล่างของเจดีย์มีรูปบุคคลนั่งเทินอยู่ ด้านล่างสุดใต้ขนดภาคมีลายหน้าสิงห์

พระพุทธรูปนาคปรก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก

พระพุทธรูปนาคปรกหล่อจากสำริดองค์นี้สามารถแยกออกจากกันเป็น 3 ส่วน ได้แก่ องค์พระพุทธรูป เศียรนาค และขนดนาคพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัย นับว่าเป็นสิ่งผิดปกติเพราะโดยทั่วไปเมื่อเป็นพระพุทธรูปนาคปรกจะทำปางสมาธิ รูปแบบพิเศษอันเป็นลักษณะของสกุลช่างไชยาซึ่งเห็นในพระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างขึ้นภายหลังด้วย ได้แก่ พระอุษณีษะอยู่ในทรงครึ่งวงกลม เรียบไม่ตกแต่งด้วยขมวดพระเกศา มีแผงสามเหลี่ยมซึ่งเดิมทีคงเคยมีอัญมณีประดับอยู่ทางด้านหน้า ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภีเป็นแถบสี่เหลี่ยมซ้อนทับกันหลายชั้น เศียรนาค 7 เศียรรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมหรือใบโพธิ์ เศียรกลางใหญ่ที่สุด เศียรด้านข้างข้างละ 3 เศียรมีขนาดเล็กกว่าและหันขึ้นสู่เศียรกลาง ทั้งหมดชิดติดกันเป็นแผง เทียบได้กับเศียรนาคปรกในศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยสมัยเมืองพระนคร เช่นแบบนครวัดและแบบบายน ขนดนาค 3 ชั้น เทียบได้กับขนดของพระพุทธรูปนาคปรกในศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยสมัยเมืองพระนครเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะแบบนครวัด โดยลักษณะดังกล่าวคือ นาคแต่ละขนดมีขนาดไม่เท่ากัน ขนดบนใหญ่ที่สุดจากนั้นจึงไล่ลำดับลงสู่ขนดล่างที่มีขนาดเล็กที่สุด ทำให้ขนดทั้ง 3 ชั้นเป็นทรงสอบ นอกจากนี้เหนือขนดนาคชั้นบนมีฐานกลีบบัวรองรับพระพุทธรูป

พระพุทธรูปนาคปรก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นประติมากรรมนูนสูงปางนาคปรก พระพุทธองค์นั่งขัดสมาธิราบแบบหลวม พระหัตถ์ทำปางสมาธิ มีเพียงฐานหน้ากระดานเรียบๆรองรับพระพุทธองค์ไม่ใช่ขนดนาค พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง เรียบ บางแนบเนื้อ มีแนวชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวต่อเนื่องจนถึงข้อพระกรซ้าย แผ่นเบื้องหลังสลักนาค 7 เศียรปกอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า ใบหน้าละม้ายคล้ายลิงอันเป็นลักษณะเด่นของนาคแบบทวารวดี สองข้างของพระพุทธรูปสลักรูปเจดีย์ทรงกลมข้างละ 1 องค์