ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธรูปนาคปรก

คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พระพุทธรูปนาคปรก, พระพุทธรูปทรงเครื่อง, ศิลปะเขมรในประเทศไทย

ชื่อเรียกอื่นพระพุทธรูปทรงเครื่อง
ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.7576
Long : 100.492222
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661329.97
N : 1521418.09
ตำแหน่งงานศิลปะจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อสำริด

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทำปางสมาธิ ประทับอยู่บนขนดนาค เบื้องหลังมีพังพานนาคปรกไว้

พระพักตร์เหลี่ยม สวมเครื่องทรงมากชิ้น ได้แก่ กุณฑลทรงตุ้มแหลม กระบังหน้าและรัดเกล้ากรวยอันประกอบด้วยชั้นลดหลั่นของแถวกลีบบัว เป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของพระพุทธรูปศิลปะเขมรแบบบายน สวมกรองศอ พาหุรัด ทองพระกร

แม้ว่าพื้นที่ระหว่างพระกรกับพระวรกายจะเจาะทะลุทำให้เกิดความรู้สึกว่าเปล่าเปลือย อันเป็นลักษณะเด่นของพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ทว่ากลับปรากฏขอบจีวรเฉวียงพระอุระและชายจีวรสี่เหลี่ยมพาดอยู่บนพระอังสาซ้าย ภายในพระหัตถ์ขวามีตลับกลมวางอยู่

ขนดนาครองรับพระพุทธองค์มี 3 ชั้น ชั้นบนมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นจึงลดหลั่นขนาดลงตามลำดับ ตกแต่งลวดลายคล้ายเกร็ดงู นาคมี 7 เศียร รูปทรงดังสามเหลี่ยมหรือใบโพธิ์ เศียรกลางใหญ่ที่สุด เศียรด้านข่างทั้งหกมีขนาดเท่ากันโดยหันขึ้นหาเศียรกลาง
สกุลช่างภาคกลาง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระพุทธรูปปางนาคปรกองค์นี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก ถือเป็นตัวอย่างของพระพุทธรูปในศิลปะลพบุรีหรือศิลปะเขมรในประเทศไทยช่วงบายนที่งดงาม

ข้อสังเกตอื่นๆ

ตามปกติพระพุทธรูปปางนาคปรกจะหมายถึงเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ 6 หลังตรัสรู้ ขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับนั่งใต้ต้นจิกริมฝั่งสระน้ำ ครานั้นพายุฝนกำลังจะเกิด พญานาคมุจลินท์ที่อาศัยในสระน้ำจึงมาขนดกายล้อมพระพุทธองค์เพื่อปกป้องให้รอดพ้นจากพายุฝน อย่างไรก็ตามในสายวัฒนธรรมเขมรความนิยมพระพุทธรูปปางนาคปรกอาจจะเกี่ยวข้องกับการนับถือบูชานาคด้วยก็ได้ โดยนอกจากจะมีฤทธิ์แล้วชาวเขมรยังเชื่อว่านาคเป็นบรรพบุรุษของตนด้วย

สำหรับการสวมเครื่องทรงอันได้แก่กระบังหน้า รัดเกล้า และกุณฑล คงเกิดขึ้นจากประเพณีถวายเครื่องทรงจริงที่ทำด้วยของมีค่าแด่พระพุทธรูป ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังนั้นเครื่องทรงของพระพุทธรูปกับเทวรูปในวัฒนธรรมเขมรจึงเหมือนกัน

อนึ่ง นักวิชาการหลายท่านให้ความห็นว่าตลับกลมภายในพระหัตถ์อาจเป็นตลับยา ดังนั้นพระพุทธรูปที่มีตลับกลมนี้อาจเป็นพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกมาก
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เขมรในประเทศไทย, บายน
อายุพุทธศตวรรษที่ 18
ศาสนาพุทธ

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประติมากรรมขอม. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2515.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทาลัยศิลปากร, 2547.