ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทพนมวัน
อยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลุ่มปราสาทประธานประกอบด้วยตัวปราสาทประธาน อันตราละ และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกันปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม มีซุ้มมุขและประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ โดยมีมุขทางเข้าด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับอันตราละคือฉนวนหรือมุขกระสันซึ่งทำเป็นทางผ่านไปยังมณฑปที่อยู่ทางด้านหน้า มณฑปนั้นมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศเช่นเดียวกับปราสาทประธาน และมีหลังคาเป็นรูปโค้งทรงประทุน ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยแนวระเบียงคดซึ่งมีโคปุระหรือซุ้มประตูอยู่ทั้ง 4 ทิศ แต่ละมุมทั้ง 4 ของระเบียงคดยังปรากฏซุ้มทิศขนาดเล็กทรงสี่เหลี่ยมออกมุมมีประตูทางเข้าและประตูที่เชื่อมต่อกับปีกโคปุระทั้ง 2 ด้านส่วนทางทิศใต้ของปราสาทประธานในเขตระเบียงคดมีปราสาทขนาดย่อมลงมาเรียกกันว่าปรางค์น้อย มีผังแบบเพิ่มมุม ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนของเรือนธาตุก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้าออกทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ปัจจุบันส่วนยอดได้พังทลายลงมาแล้ว องค์ปราสาทยังไม่มีการสลักลวดลายตกแต่งลงไปเป็นเพียงโครงสร้างรูปปราสาทเท่านั้น จากลักษณะดังกล่าวข้างต้นสันนิษฐานว่าปรางค์น้อยนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทหินทราย นอกจากนี้ภายในระเบียงคดยังพบแนวฐานอาคารอิฐหลายหลังอยู่ล้อมรอบปราสาทประธานอีกด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทสด๊อกก๊อกธม
ประกอบไปด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกทางเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ปราสาทประธานมีสภาพไม่สมบูรณ์ก่อด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีเสานางเรียงหรือเสานางจรัลปักอยู่โดยรอบ มีบรรณาลัยสองหลังในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานตามลำดับ อาคารทั้งหมดนี้ถูกล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีประตูทางเข้าหรือที่เรียกว่าโคปุระทางทิศตะวันออก ส่วนระเบียงคดด้านทิศตะวันตกปรากฏห้องยาวคั่นอยู่กึ่งกลาง ส่วนพื้นที่ระหว่างระเบียงคดและกำแพงแก้วนั้นขุดคูน้ำล้อมรอบ กำแพงแก้วนั้นก่อด้วยศิลาแลง มีโคปุระหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันออกและมีฉนวนหรือทางเดินปูด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อกันเป็นแนวตรงระหว่างโคปุระของระเบียงคดและโคปุระของกำแพงแก้ว มีเสานางเรียงปักตามแนวทั้งสองข้างทอดยาวไปจนถึงคันดินสระน้ำทางทิศตะวันออกนอกกำแพงแก้ว
สถาปัตยกรรมโคปุระของปราสาทบันทายสรี
โคปุระของปราสาทบันทายสรี ประกอบด้วยหน้าจั่วสามเหลี่ยมซึ่งเลียนแบบมาจากอาคารเครื่องไม้ ที่น่าสนใจก็คือ ที่ปลายหน้าจั่วมีลายตกแต่งเป้รูปขมวดม้วน ซึ่งอาจกลายมาจากงวงของมกรก็ได้ หน้าจั่วเช่นนี้ปรากกฎมาก่อนกับปราสาทในศิลปะเกาะแกร์ และจะปรากฏอีกกับปราสาทในศิลปะบาปวนบางหลัง เช่นปราสาทพระวิหาร
สถาปัตยกรรมปราสาทบาญอิ๊ด
ปราสาทแห่งนี้ประกอบไปด้วยอาคาร 4 หลัง คือ ปราสาทประธาน บรรณาลับ หอจารึก (?) และโคปุระ ซึ่งกลุ่มอาคารดังกล่าวคล้ายคลึงกับการจัดกลุ่มอาคารของปราสาทมิเซินในศิลปะมิเซิน A1 อย่างไรก็ตาม ปราสาทแห่งนี้มีการจัดวางอาคารอย่างซับซ้อน เช่น ให้ปราสาทประธานและบรรณาลัยอยู่ด้านบนสุด ส่วนอาคารหอจารึกและโคปุระกลับอยู่ด้านล่างลงมา
สถาปัตยกรรมโคปุระบาจังระตู
เป็นโคปุระที่งดงามที่สุดในสมัยราชวงศ์มัชฌปาหิต เป็นโคปุระที่สร้างด้วยอิฐซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับสถาปัตยกรรมที่โตรวุลัน ตัวโคปุระมีซุ้มประตูที่ปรับด้วยหน้ากาลสลักอิฐ หน้ากาลมีเขา มีเขี้ยว มีปากล่างและมีมือซึ่งเป็นลักษณะปกติสำหรับหน้ากาลในศิลปะชวาภาคตะวันออก ยอดของโคปุระมีลักษณะคล้ายคลังกับเทวาลัยหลังเล็กที่จันทิปะนะตะรัน กล่าวคือ ประกอบด้วยหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่มีอาคารจำลองจำนวน 5 หลังประดับ เส้นรอบนอกของยอดวิมานมีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่งดงาม โคปุระที่มียอดปราสาทเช่นนี้ ต่อมาจะปรากฏอีกในศิลปะบาหลี
สถาปัตยกรรมฐานขั้นบันไดที่ปุระเกห็น
เทวาลัยในศิลปะบาหลี ย่อมแบ่งอกเป็น 3 ลานเสมอ โดยลานชั้นนอกมักอยู่ด้านล่างสุดของเชิงเขา แทนโลกบาดาล ลานชั้นกลาง ส่วนส่วนกลางของเชิงเขาหมายถึงโลกมนุษย์ และลานชั้นนอกหมายถึงสวรรค์อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้าอยู่ด้านบนสุดของเนินเขา การที่ความสูงของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้เกิดการสร้าง “พนักขั้นบันได” คั่นอยู่ในระหว่างลานแต่ละชั้น โดยช่างบาหลีได้ตกแต่งดังกล่าวด้วยประติมากรรมคั่นยู่เป็นระยะๆ ที่ด้านบนสุดปรากฏโคปุระซึ่งแสดถึงการกั้นพื้นที่ของจักรวาลในแต่ละชั้นและป้องกันสิ่งชั่วร้าย
สถาปัตยกรรมซุ้มประตู (โคปุระ) ที่ปุระเกห็น
โคปุระ คือซุ้มประตูที่มียอดปราสาทด้านบน แสดถึงการกั้นพื้นที่ของจักรวาลในแต่ละชั้นและป้องกันสิ่งชั่วร้าย โคปุระในศิลปะบาหลี ย่อมประกอบด้วย “อาคารประธาน” และ “อาคารขนาบข้าง” เสมอ โดยบางครั้งอาคารขนาบข้างก็ปรากฏประตูด้วย เมื่อรวมกับประตูกลางแล้วจึงมีถึงสามประตู ด้านบนของประตูกลางมักปรากฏหน้ากาลขนาดใหญ่ หน้ากาลมีลักษณะดุร้าย ตาโปน มีเขี้ยว ยกมือขึ้นในท่าขู่ หน้ากาลมีหน้าที่ป้องกันความชั่วร้ายไม่ให้เข้าสู่เทวาลัย ยอดปราสาทประกอบด้วยเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบอินเดียใต้ อย่างไรก็ตาม กลับประดับไปด้วยสัตว์ประหลาดและกนกงอนคล้ายที่ประดับบนสันหลังคาวัดจีน ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างไปจากศิลปะชวาภาคตะวันออก
สถาปัตยกรรมอาคารทรงเมรุที่ปุระเกเห็น
อาคารทรงเมรุ คืออาคารทรงปราสาทในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซ้อนชั้นด้วยหลังคาลาดมุงฟางจำนวนหลายชั้น อันเป็นสัญลักษณ์ของอาคารที่มีฐานันดรสูง เป็นที่ประทับเทพเจ้าสำคัญซึ่งมักตั้งอยู่ ณ ลานด้านในสุดของปุระ หลังคาลาดมุงฟางนี้ย่อมทำให้อาคารทรงเมรุได้รับการซ่อมแซออยู่อย่างสม่ำเสมอ แตกต่างไปโคปุระที่สร้างด้วยอิฐหรือหินซึ่งเป็นถาวรวัตถุ ที่ปุระเกเห็น อาคารทรงเมรุมีลักษณะพิเศษ คือมีเต่าและนาครองรับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามจักรวาลวิทยาแบบฮินดู